เปิด 10 อันดับโรค ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สิทธิบัตรทองใช้บริการสูงสุดปี 2565



 

สปสช. เปิด 10 อันดับโรคผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ปี 2565 สิทธิบัตรทอง 30 บาทที่มีอัตราการรับบริการมากที่สุด

ระบุ บริการผู้ป่วยนอก ฉีดวัคซีนโควิด-19 ยอดทะลุอันดับ 1 มีผู้รับบริการสูงถึง 22.5 ล้านครั้ง รองลงมาเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหวัด และกระเพาะอาหารฯ ส่วนบริการผู้ป่วยใน ปอดบวมจากเชื้อไวรัสมีอัตราเข้ารักษานอน รพ. สูงสุด 3.3 แสนครั้ง รองลงมา ได้แก่ โรคคอหอยอักเสบ กระเพาะอาหาร ปอดบวม เยื่อจมูกอักเสบเฉียบพลัน พร้อมใช้เป็นข้อมูลด้านสาธารณสุข สู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” สปสช. ได้แยกงบประมาณบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

โดยในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรที่จำนวน 1.58 แสนล้านบาท จากงบประมาณกองทุนฯ จำนวน 1.98 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยที่ 3,329.22 บาทต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ทั้งบริการผู้ป่วยนอกในอัตรา 1,305,07 บาทต่อคน และผู้ป่วยในอัตรา 1,460.59 บาทต่อคน สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.54 ล้านคน

จากรายงานผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 พบว่าการรับบริการผู้ป่วยนอกจาก 111.95 ล้านครั้งในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มเป็น 167.37 ล้านครั้ง คิดเป็นอัตราเฉลี่ยจาก 2.45 เพิ่มเป็น 3.53 ครั้งต่อคนต่อปี

 

ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในจาก 4.30 ล้านครั้ง ในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มเป็น 6.20 ล้านครั้ง โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยจาก 0.094 เป็น 0.131 ครั้งต่อคนต่อปี

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการรับบริการดังกล่าว พบว่าในจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอก 167.37 ล้านครั้ง บริการที่มีจำนวนการเข้ารับบริการมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 22,588,688 ครั้ง 2.ความดันโลหิตสูง ไม่ระบุรายละเอียด จำนวน 12,482,754 ครั้ง  3.เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 7,818,536 ครั้ง 4.เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน หรือโรคหวัด 5,022,512 ครั้ง 5.โรคกระเพาะอาหาร 1,942,902 ครั้ง

6.ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1,735,802 ครั้ง 7.เวียนศีรษะ วิงเวียน 1,310,634 ครั้ง 8.โรคโควิด-19 และมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นบวก 1,255,339 ครั้ง 9.โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส (เอชไอวี) 780,886 ครั้ง 10.ฟันผุที่จำกัดเฉพาะเคลือบฟัน 720,908 ครั้ง

ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในจำนวน 6.20 ล้านครั้ง บริการที่มีจำนวนการเข้ารับบริการมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.ปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส 332,054 ครั้ง 2.คอหอยอักเสบเฉียบพลันจากเชื้ออื่นที่ระบุ 164,244 ครั้ง 3.กระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบจากสาเหตุที่ไม่ระบุรายละเอียด 129,461 ครั้ง 4.ปอดบวม ไม่ระบุรายละเอียค 115,606 ครั้ง 5.เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลันหรือโรคหวัด 111,566 ครั้ง

6.การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลันหลายตำแหน่ง 104,394 ครั้ง 7.การคลอคเองครรภ์เดียว 98,905 ครั้ง  8.ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 89,365 ครั้ง 9.หัวใจล้มเหลวแบบมีน้ำคั่ง เกิดภาวะน้ำท่วมปอด 86,919 ครั้ง 10.การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะไม่ระบุตำแหน่ง 77,705 ครั้ง

“ข้อมูลที่ปรากฏนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งกองทุนบัตรทอง 30 บาท ได้ให้การคุ้มครองดูแล และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยในปีนี้ในส่วนของบริการผู้ป่วยนอก เนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์เร่งป้องกันโรคโควิด-19 จึงทำให้ค่าบริการวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนการเข้ารับบริการมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิกัน สำหรับในส่วนของการเข้ารับบริการด้วยภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ นั้น ยังเป็นข้อมูลสำคัญในทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขเพื่อลดอัตราภาวะเจ็บป่วยต่อไป” พญ.ลลิตยา กล่าว