‘สส.โฮม : ปิยะรัฐชย์’ หนุนร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ลำไย


‘สส.โฮม :  ปิยะรัฐชย์’ หนุนร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ลำไย เชื่อจะช่วยยกระดับและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

แนะต้องสร้างการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ยกในอดีตรัฐบาล "ทักษิณ" เคยเดินหน้าเรื่องนี้แล้ว

(31 กค.67)นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลำไย ว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการปลูกลำไยและอยากจะหาทางออกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

โดยใน อดีตลำไย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรภาคเหนือ แต่ที่ผ่านมามีพ่อค้าชาวจีนนำเอา พันธุ์ลำไยไปแพร่ขยายและ ปลูกในหลายพื้นที่ของประเทศ

เมื่อมาดูตัวเลขการส่งออกลำไย สดอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกคือ  จีน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม โดยตัวเลขการส่งออกใน ปี 2565 มี ยอดส่งออกกว่า 12,000 ล้านบาท แต่ในปี 2566 กลับมียอดส่งออกลดลง ซึ่งในปีนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ปลูกลำไยก็หวังว่าตัวเลขการส่งออกจะพุ่งสูงขึ้น โดยเชื่อมั่น ในการบริหารงานของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการในการจัดการผลไม้ในปี 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการรณรงค์บริโภคผลไม้ การส่งเสริมการแปรรูป การจัดทำเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งการหาตลาดการขายผลไม้ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรามักจะเน้นย้ำในเรื่องของการรับซื้อ การตลาด การช่วยเหลือด้านราคา แต่ปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาล้งที่เกิดขึ้นโดยมีประเทศเพื่อนบ้านอยู่เบื้องหลัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราพยายามแก้ปัญหา แต่อาจจะไม่มีความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกร

"วันนี้ตนมองว่าเรายังขาดการสร้างการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ที่ผ่านมารัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ ได้มีการส่งเสริมการทำลำไยกระป๋องในน้ำเชื่อม ซึ่งระยะหลังได้เงียบหายไป อาจเป็นเพราะไม่ได้มีการขยายตลาดและไม่มีการสร้างแบรนด์ให้มีความเข้มแข็ง จึงหวังว่าร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ลำไยฉบับนี้ จะออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร"

นางสาวปิยะรัฐชย์ ย้ำว่าการรับฟังเสียงของพี่น้อง ถือเป็นส่วนสำคัญซึ่งตนเองได้ลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็น โดยประชาชนสะท้อน โดยเน้นย้ำในเรื่องของ ความเสถียรของราคาลำไย ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถรู้ล่วงหน้า โดยเป็นการกำหนดราคาเองจากโรงงาน รวมทั้งเครื่องคัดเกรดที่อาจจะไม่มีมาตรฐานจึงควรมีหน่วยงานกลางในการที่จะเข้ามากำกับดูแล รวมทั้งอยากให้ภาครัฐได้มีการวิจัยและพัฒนาผู้ปลูกลำไยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกษตรได้รับประโยชน์ทั้งจากการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี การช่วยเหลือจากภาครัฐหากเกิดภัยธรรมชาติ รวมถึงการเปิดตลาดเส้นทางในต่างประเทศทั้งยุโรปอินเดียหรือตะวันออกกลาง

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการอำนวยการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนในทุกช่องทางเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับประโยชน์สูงสุด