ค้านเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยกอำนาจให้ ครม. กำหนดที่มาบอร์ด ฯ

ถามกฎหมายปัจจุบันให้ผู้ประกันตนเลือกตั้งทางตรงมีปัญหาตรงไหน ยืนยันคนบริหารเงินกองทุน ต้องมาจากการเลือกตั้ง

จี้ สปส. ควรเปิดเผยคะแนนรายหน่วยเพื่อความโปร่งใส หลังคะแนนเคลื่อน-ผลเลือกตั้งเปลี่ยน

(17 กุมภาพันธ์ 2567)นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกระทรวงแรงงานเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยกเลิกความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 วรรค 3 ที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อพิจารณาบรรจุในวาระ ครม.

หาก ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการสภาฯ ว่าทราบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สงสัยมากว่าทำไมจึงมาผลักดันในช่วงนี้ ทั้งที่เราเพิ่งมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทางตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม 2566

นายสหัสวัต กล่าวว่า ปัญหาสำคัญก็คือร่างของกระทรวงแรงงาน เขียนว่าหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. นั้น เท่ากับว่าให้อำนาจอยู่ในมือ ครม. จะกำหนดให้บอร์ดประกันสังคมมาจากการแต่งตั้งก็ได้ เลือกตั้งบางส่วนก็ได้ เลือกตั้งผ่านตัวแทนอะไรสักอย่างก็ได้ จะออกแบบให้เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้

ไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นการเลือกตั้งทางตรงที่ผู้ประกันตนได้ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างเต็มที่

ดังนั้นตนจะคัดค้านเรื่องนี้จนถึงที่สุด และยืนยันว่าคนบริหารเงินกองทุนประกันสังคม ที่ทุกคนส่งเงินเข้ากองทุนทุกๆ เดือน ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน

“เราเข้าใจว่าการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ แต่ควรเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจว่ามีปัญหาตรงไหน

ต่อให้บอกว่าเมื่อกฎหมายเข้าสภาฯ ก็ต้องผ่านกรรมาธิการ แต่คำถามคือแล้วจะร่างกฎหมายแบบนี้มาทำไมตั้งแต่แรก ทำไมไม่ยืนยันสิทธิเลือกตั้งทางตรงของประชาชน”

ต่อกรณีการรับรองผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม สส.ชลบุรี เขต 7 กล่าวว่า เพิ่งมีการรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นเวลากว่า 50 วันหลังวันเลือกตั้ง ถือว่าล่าช้ามาก เพราะการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมีผู้มาใช้สิทธิน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง สส. และยังมีปัญหาผลคะแนนเปลี่ยนแปลง แต่ละคนเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน

แต่ที่เปลี่ยนแปลงมากและส่งผลให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยน คือคะแนนของ ปรารถนา โพธิ์ดี มีการเปลี่ยนแปลงกว่า 1,300 คะแนน ส่งผลให้ลำดับเปลี่ยนจากที่ 7 ไปอยู่ที่ 9

“จากการพูดคุยกับคุณปรารถนา เขาไปขอผลคะแนนจากสำนักงานประกันสังคม ก็ได้มาแค่คะแนนรายจังหวัด เห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดที่กรุงเทพฯ 1,300 คะแนน ปัญหาคือไม่มีผู้รับผิดชอบเลย อ้างว่ามีการกรอกผลคะแนนผิด แต่ไม่รู้ว่าผิดที่ไหน ผิดอย่างไร จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยคะแนนรายหน่วยเพื่อความโปร่งใส ทำให้การเลือกตั้งประกันสังคมมีมาตรฐาน สะท้อนเสียงของผู้ประกันตนจริง ๆ”