“ก้าวไกล” อภิปรายหนุนแก้กฎหมายประมงวาระแรก

“วรภพ” ชี้จุดร่วมทุกร่างฯแก้บทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ย้ำจุดต่างร่างฯก้าวไกลเน้นกระจายอำนาจ-ให้ท้องถิ่นเป็นเสาหลักในกรรมการประมงจังหวัด-กำหนดกติกาในพื้นที่เองได้ อัด ครม. อุ้มร่างฯไปศึกษา 60 วันเพียงเพราะร่างตัวเองทำไม่ทัน

(7 กุมภาพันธ์ 2567 )ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง 2558 ที่มีการเสนอร่างฯ ขึ้นมาจากหลายพรรคการเมืองรวมทั้งพรรคก้าวไกล

โดยมี สส. พรรคก้าวไกลหลายรายร่วมอภิปรายให้เห็นถึงเนื้อหาสาระสำคัญที่ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลมีแตกต่างไปจากร่างฯ อื่น

นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างฯ ในส่วนของพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างฯ โดยระบุว่าการที่ทุกพรรคการเมืองยื่นร่างฯ แก้ไขกฎหมายประมงเข้ามา เป็นที่ชัดเจนว่ากฎหมายนี้มีปัญหาอยู่จริง และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข

สิ่งที่ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันคือเรื่องการบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินสมควร ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับที่สูงได้ถึง 30 ล้านบาท หรือเมื่อเรือทำผิดหนึ่งลำอีก 10 ลำก็ต้องห้ามทำการประมงไปด้วย แต่ในส่วนของร่างฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ มีข้อดีที่เพิ่มเติมขึ้นมาหลายประการ ได้แก่ :  

1) แก้ปัญหาการบังคับใช้ที่กำหนดโดยราชการส่วนกลาง ที่คิดว่ากติกาทั้งในการทำประมงพื้นบ้านและการทำประมงชายฝั่งในพื้นที่ 22 จังหวัดจะต้องมีรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ นี่คือต้นตอของปัญหา เพราะอย่าว่าแต่อ่าวไทยกับทะเลอันดามันเลย แค่ในจังหวัดเดียวกัน หาดที่อยู่ข้างๆ กันก็อาจมีบริบทที่แตกต่างกันแล้ว จึงควรมีกติกาและมาตรการที่แตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่ทำหอยได้ บางพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ได้

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกฎหมายฉบับเดียวที่ออกมาจากราชการส่วนกลางแล้วบังคับใช้ใน 22 จังหวัดเหมือนกันหมด แน่นอนว่าไม่ใช่ให้ทำอะไรก็ได้ แต่เป็นการหาจุดตรงกลาง โดยการให้บทบาทกับคณะกรรมการประมงจังหวัด มีบทบาทหลักในการออกกำหนดกติกา ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

2) เพิ่มอำนาจคณะกรรมการประมงจังหวัด ให้สามารถกำหนดกฎระเบียบสำหรับทำการประมงขยายเพิ่มเป็น 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง แทนที่กฎหมายเดิมที่กำหนดไว้แค่ 3 ไมล์ทะเล คณะกรรมการประมงจังหวัดสามารถออกกติกาที่เหมาะสมได้ว่าเรือขนาดไหนทำประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลได้ เพื่อให้การประมงมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลามีรายได้มากขึ้นได้

3) สัดส่วนคณะกรรมการประมงจังหวัด จากกฎหมายที่มีตัวแทนจากข้าราชการภูมิภาคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนายอำเภอทุกอำเภอที่เขตมีเขตประมงอยู่ ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลเห็นว่าควรลดบทบาทส่วนนี้แล้วไปเพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของคณะการประมงจังหวัด และให้นายก อบจ. เป็นประธานคณะกรรมการประมงจังหวัดแทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัด

เชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนเป็นคนเก่ง แต่โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละท่านอยู่ในตำแหน่งในแต่ละจังหวัดเพียงแค่ 1 ปี 8 เดือนเท่านั้น และยังเป็นคนนอกพื้นที่ที่อาจจะมีความเข้าใจในบริบทของแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันไม่ดีพอเท่ากับคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง หากให้นายก อบจ. เป็นประธานคณะกรรมประมงจังหวัด จะสามารถกำหนดกติกาที่รับผิดรับชอบ มีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ได้เหมาะสมกว่า

4) การคุ้มครองสิทธิแรงงานของแรงงานประมง โดยที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน แต่เราก็ต้องขอเป็นตัวแทนชาวประมงในการยืนยันว่าไม่มีชาวประมงคนไหนที่ตั้งใจจะทำผิดกฎหมายในเรื่องของการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยที่มีกฎระเบียบซ้ำซ้อน

โดยเฉพาะในกรณีของแรงงานประมง ต่อให้แรงงานไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานมาแล้ว ก็ต้องมารอขึ้นทะเบียนหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) กับกรมประมงอีก เมื่อกฎระเบียบซ้ำซ้อนและไม่อำนวยความสะดวกให้กับชาวประมง ที่จะสามารถจัดหาแรงงานข้ามชาติมาทำงานประมงได้ จึงเอื้อให้เกิดการทำผิดกฎหมาย และยังกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ตามมา

ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการลดกฎระเบียบและอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ ให้แรงงานข้ามชาติในกิจการประมงในราชอาณาจักร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาขอ Seabook เพิ่มกับกรมประมงอีก เพียงขึ้นทะเบียนที่กระทรวงแรงงานที่เดียวก็เพียงพอ

นายวรภพ ยังกล่าวต่อไป ว่าการแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงไม่ใช่แค่การแก้ไข พ.ร.ก.ประมงฉบับนี้เท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายลูกและระเบียบอีกหลายฉบับที่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเลย และยังมีเรื่องของสัญญาที่รัฐบอกว่าจะซื้อเรือคืนจากชาวประมง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววเช่นกัน รวมทั้งการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมให้กับชาวประมงต่อไป

นายวรภพ ยังกล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรีอาจจะขอนำร่างฯ แก้ไข พ.ร.ก.ประมงทุกฉบับไปศึกษาเป็นเวลา 60 วัน เพื่อรอเวลาให้ร่างฯ ของ ครม. จัดทำได้ทันเพื่อนำเข้าประกบกับร่างฯ ของทุกพรรค โดยระบุว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังเป็นอย่างมาก

“ปัญหาประมงเป็นเรื่องเร่งด่วน ผมคิดว่าทุกพรรคการเมืองที่เสนอกฎหมายเข้ามา เป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สุด ว่านี่คือฉันทามติของประชาชนที่ต้องการเห็นการแก้ไข และพรรคก้าวไกลก็เสียใจและผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ได้ยินมาว่ารัฐบาลอาจจะยังไม่ขอผ่านการรับรองในวาระที่หนึ่ง ซึ่งผมก็ต้องขอยืนยันให้ ครม. รีบเร่งพิจารณากฎหมายประมงของตัวเอง เพื่อเข้าสู่สภาฯ ให้เกิดการแก้ไขโดยเร็วตามที่ทุกพรรคการเมืองในสภาแห่งนี้เห็นตรงกัน” วรภพกล่าว

ด้าน นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายสนับสนุนว่า การตรากฎหมายอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยไม่ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และปราศจากการกลั่นกรองจากรัฐสภาในระบบปกติก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมง 2558 ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกฎหมายบังคับใช้โดยตรงอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ชาติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำ คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นเวลานานกว่า 9 ปี

เช่นจังหวัดสมุทรสาคร จากอดีตเคยถูกยกย่องให้เป็นเมืองหลวงการประมงของไทย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงที่ไม่ใช่การประมงโดยตรง คนทำประมงหลายคนล้มละลาย ออกจากอาชีพประมงไปเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเศร้ามาก

สส.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยและพร้อมรับหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก.ประมง ทุกฉบับที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอ ส่วนรายละเอียดไปถกกันต่อในชั้นกรรมาธิการ แต่คงไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการอุ้มร่างกลับไปที่ ครม. ก่อน เหตุเพราะรัฐบาลทำงานไม่ทัน ยังไม่มีร่างของตัวเองเสนอเข้ามา

“ถ้าบอกว่าร่าง ครม. ต้องการความรอบคอบ กำลังไปตรวจร่าง ความรอบคอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมปล่อยเวลากันเนิ่นนานขนาดนี้

ต้องให้พี่น้องชาวประมงรอถึงเมื่อไร ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือเวลา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้กฎหมายเพื่อให้ถูกหลักการ กติกาสากล รวมทั้งสอดรับกับบริบทการประมงของไทย หาสมดุลระหว่างการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและการทำมาหากิน” ณัฐพงษ์ กล่าว