“ก้าวไกล-กมธ.พัฒนาการเมืองฯ” นำ 3 ข้อสังเกต ผังเมือง กทม. เสนอผู้ว่าชัชชาติ

 

พบปัญหาเชิงกระบวนการสะสมตั้งแต่ปี 2560 แค่ขยายเวลารับฟังความเห็น อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไข

(18 มกราคม 2567)นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร กทม. นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. กรมโยธาธิการและผังเมือง บริษัทที่ปรึกษา และผู้แทนราษฎรจาก กทม.

อาทิ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 21 เพื่อร่วมหาทางออกเกี่ยวกับการจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตคนที่อาศัยในพื้นที่

พริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการได้รับทราบถึงข้อทักท้วงจากประชาชนเกี่ยวกับร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นข้อทักท้วงเกี่ยวกับ “กระบวนการรับฟังความเห็น” ทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ การสร้างความเข้าใจกับประชาชน

และรูปแบบการจัดเวทีรับฟังความเห็น หรือข้อทักท้วงเกี่ยวกับ “เนื้อหา” ของร่างผังเมือง ที่มีการตั้งคำถามต่อหลักคิดในการออกแบบ รวมถึงมาตรการในการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิ

หลังจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทางคณะกรรมาธิการและผู้แทนราษฎรจาก กทม. ได้พบข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างผังเมืองที่เราเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาของกระบวนการออกแบบผังเมืองตั้งแต่ต้นทาง ที่ถูกริเริ่มตั้งแต่ปี 2560 ก่อนหน้าที่ผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่ง

โดยสรุปออกมาได้เป็น 3 ข้อสังเกตหลัก ที่จะมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากเอกสารที่คณะกรรมาธิการเรียกขอให้หน่วยงานส่งตามมาหลังการประชุมวันนี้

ข้อสังเกตแรก คือข้อกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบผังเมืองตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก แม้ปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชน “หลัง” จากมีร่างผังเมืองปรากฎต่อสาธารณะแล้ว แต่ทางคณะกรรมาธิการและผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุม ว่าการออกแบบผังเมืองอาจไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงพอตั้งแต่ต้นทางในการร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาเมือง “ก่อน” จะมีร่างผังเมืองปรากฎออกมา

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกระบวนการออกแบบผังเมืองในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือ ออสเตรเลีย ที่มีการจัดเวทีและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทั้งออนไลน์และในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ที่อาศัยในเมือง มากำหนดความฝันและคุณค่าสำคัญที่เขาอยากเห็นร่วมกันในการใช้ชีวิตในเมือง รวมถึงการแสดงความเห็นต่อทางเลือกหรือฉากทัศน์ต่างๆเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเมือง ก่อนที่จะมีการออกแบบผังขึ้นมา

ด้านศุภณัฐ กล่าวว่า หากร่างผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นทางและการตัดสินใจร่วมกันต่อภาพรวมของทิศทางการพัฒนาเมือง ร่างที่คลอดออกจะเผชิญความท้าทายอย่างมากในการได้รับความยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องหลักคิดในการกำหนดการกระจุกหรือกระจายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆในเมือง การกำหนดผังคมนาคมและโครงข่ายถนนที่เพิ่มความไม่แน่นอนกับประชาชนเรื่องการเวนคืน รวมถึงเงื่อนไข FAR Bonus ที่ไม่ปรับตามยุทธศาสตร์และความต้องการเฉพาะพื้นที่ โดยทางคณะกรรมาธิการได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง กทม. ในส่วนของรายละเอียดการรับฟังความเห็นทั้งหมดในขั้นตอน “ก่อน” การจัดทำร่าง เช่น ประเภทผู้เข้าร่วม สถิติ รูปแบบ-กำหนดการ บันทึกวิดีโอ เอกสารประกอบการประชุม รายงานสรุป เพื่อประกอบการวิเคราะห์ต่อ

ข้อสังเกตที่สอง คือข้อกังวลเรื่องการปรับปรุงให้เท่าทันต่อข้อมูลหรือสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป ในเมื่อร่างผังเมือง ณ ปัจจุบัน (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีต้นกำเนิดมาจากการร่างที่ถูกเริ่มออกแบบในปี 2560-62 ก่อนที่ พ.ร.บ. ผังเมือง 2562 จะบังคับใช้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการวางวิสัยทัศน์และออกแบบผังแนวคิดของผังเมืองไม่ได้ถูกออกแบบบนฐานข้อมูลที่อัปเดตเท่าที่ควร และไม่ได้มีการปรับปรุงเพียงพอจากร่างเดิมที่ถูกริเริ่มเมื่อปี 2560-62 ทั้งที่มีเหตุการณ์หลัง 2562 ที่มีนัยสำคัญต่อปัจจัยในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะวิกฤตโควิดที่เพิ่มความกังวลต่อการออกแบบเมืองที่มีความหนาแน่นและปรับพฤติกรรมคนให้หันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น หรือ โครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการเปิดบางสายเร็วและบางสายช้ากว่ากำหนด จึงอาจทำให้ผังเมืองไม่สอดคล้องกับสภาพของเมืองหรือพฤติกรรมของประชาชน ณ ปัจจุบันและในอนาคต

ขณะที่ ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ข้อกังวลที่สาม คือข้อกังวลเรื่องความชัดเจนในขั้นตอนการจัดทำรายงาน เนื่องจากการจัดทำร่างผังเมือง กทม. ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังจากที่ พ.ร.บ. ผังเมือง ฉบับปัจจุบันได้มีผลบังคับใช้ในปี 2562 ทำให้ กทม. จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาศึกษาจัดทำผังเมืองรวมที่ได้ทำไว้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านผังเมือง ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนต่อสาธารณะว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือน่าสงสัยในขั้นตอนการทำรายงานที่เสี่ยงจะถูกมองว่าเป็นการทำ “วิศวกรรมผันกลับ” (reverse engineering) หรือการพยายามปรับผังใหม่ให้ไปสอดคล้องกับข้อมูลซึ่งได้จัดทำไว้แล้วแต่เดิมหรือไม่

พริษฐ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการจึงได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง กทม. ทั้งในเรื่องของรายละเอียดสัญญาและขอบเขตการดำเนินงาน (TOR) รวมไปถึงรายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างผังเมืองรวมดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบสำหรับการตอบคำถามตามข้อสังเกตนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่ กทม. ขยายเวลารับฟังความเห็นต่อร่างผังเมืองในขั้นตอนปัจจุบัน (ขั้นตอนที่ 5) จึงอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ในกระบวนการออกแบบผังแนวคิดของร่างผังเมืองก่อนหน้านี้

“แม้เราเข้าใจว่าการบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาผังเมืองที่สะสมมายาวนานและสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ แต่หลังจากได้รับทราบข้อสังเกตดังกล่าวไปพร้อม ๆ กับคณะกรรมการธิการแล้ว เราหวังว่าในฐานะผู้ว่าฯ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนมาโดยตลอด ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะตัดสินใจถอยสักหนึ่งก้าว เพื่อหาวิธีออกแบบผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ร่วมกับประชาชนใน กทม. ทุกคน ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เราได้ผังเมือง ที่สอดรับกับความฝันและความหวังของชาว กทม. อย่างแท้จริง” พริษฐ์กล่าว