วอนชุมชนเป็นหูเป็นตา ก่อน เกิดเหตุร้าย

 

วราวุธ ระบุ พม. ส่งทีมสหวิชาชีพ-นักจิตวิทยา เข้าปลอบขวัญครอบครัวญาติเหยื่อหีบเหล็กถ่วงน้ำ วอน ชุมชนเป็นหูเป็นตา ไม่ให้เกิดเหตุ

(10 ม.ค.67 )ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ก่อเหตุลวงพ่อและน้องสาวเที่ยวเขื่อนยัดโรงเหล็กถ่วงน้ำ2ศพ ซึ่งสะท้อนปัญหาสังคมไทยอย่างมาก ว่า

เหตุการณ์ดังกล่าวถึงแม้ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัวด้วยกันเองก็ตาม ตนเองขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ญาติพี่น้อง

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของสังคมไทยทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าจู่ๆจะเกิดเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนว่าเมื่อเราอยู่ในครอบครัวอย่าถือคติว่าบ้านใครบ้านมัน เรื่องของใครเรื่องของมัน แต่ในวันนี้สิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถคิดแบบเดิมได้อีกต่อไป  

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะขึ้นกับเด็กสตรี หรือแม้แต่ในกรณีนี้ ที่เกิดขึ้นกับบิดาและน้องสาวของผู้ก่อเหตุเอง

เชื่อว่าก็ต้องมีสาเหตุมาก่อน ไม่ใช่จู่ๆคิดจะทำแล้วทำเลย แสดงว่าจะต้องมีอาการที่เกิดขึ้นมา

ดังนั้นตนคิดว่าเพื่อนบ้านไม่ว่าจะอยู่ซ้ายหรือขวา หรือคนในชุมชนนั้น ต้องใส่ใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น ดูว่าลักษณะของบ้านนี้ พฤติกรรมของนายคนนี้ ระยะหลังๆเขาแปลกไป เกิดอะไรขึ้นหรือไม่

ซึ่งเรากำลังพูดถึงการป้องกัน เพราะเมื่อเกิดเหตุไปแล้ว เราไม่สามารถไปแก้ไขหรือป้องกันได้ แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุสลดเช่นนี้ ทีมสหวิชาชีพของกระทรวงพม. ก็จะเข้าไปให้การเยียวยาทางด้านจิตใจ

แต่ส่วนเรื่องทางคดีเป็นขั้นตอนทางกฎหมายของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม.มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ซึ่งสามารถส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว

ประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา เข้าไปเยียวยาทางด้านจิตใจของสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ แต่นั่นคือปลายเหตุ  ซึ่งปัญหานั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราไม่อยากแก้ปัญหา แต่เราอยากป้องกันมากกว่า โดยการเอาใจใส่ดูแลกันในครอบครัว คนเป็นพ่อแม่ต้องเข้าใจในสังคมที่เปลี่ยนไป คนที่เป็นบุตรหลานต้องเปิดใจให้กว้างรับฟังข้อมูลหลายๆอย่าง

ขณะเดียวกันชุมชน สังคม ที่อยู่ใกล้กันก็ต้องเอาใจใส่ดูแลกันโดยสังเกตว่าลักษณะของคนข้างเคียงบ้านเราเปลี่ยนไปหรือไม่ มีปัญหาใดหรือไม่ พูดคุยกันได้หรือไม่

นายวราวุธ กลาวว่า ในบางครั้งเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้วมันง่ายในการวิเคราะห์ว่าอาจจะเกิดเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ แต่ในสังคมทุกวันนี้ ตนยังเชื่อว่ามีสิ่งที่รอจะเกิด

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ การพูดคุยซึ่งกันและกัน ปรับทุกข์ พูดคุยกันในชุมชน ในครอบครัว และการเอาใจใส่เฝ้ามองของเพื่อนบ้าน และเมื่อคนในชุมชนได้ทราบเรื่องแล้วไม่รู้ว่าจะปรึกษากับใคร

สามารถโทรมาได้ที่ ศรส. ฮอตไลน์ 1300 ของกระทรวง พม. หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ทั่วประเทศ