แก้ไข รธน. ต้องมีตัวแทนเยาวชน

 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 ที่กระทรวงพม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ว่า การนำเสนอผลงานในหลายมิติของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเห็นได้ถึงพลังและความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างเต็มที่

ซึ่งตนขอชื่นชม และถือว่าการได้รับฟังเสียงของสภาเด็กเยาวชนเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงพม.และสังคมไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า จากการที่ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยรายงานว่าคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีการฟังเสียงจากเด็กและเยาวชน ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะปัจจุบันเรามีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีผู้ใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

ซึ่งเห็นว่าควรจะต้องมี และตน จะไปผลักดันให้มีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการด้วยเพราะเด็กก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำเอาไว้ อย่างในต่างประเทศเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการเปิดและปิดภาคธุรกิจ เพราะเขาให้ความสำคัญมากกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน

นายวราวุธ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนถือเป็นพลังที่สำคัญที่สุดของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดสูง ดังนั้นการเติบโตท่ามกลางสังคมที่มีการสื่อสาร มีสื่อต่างๆมากมาย จึงทำให้มีบางกลุ่มที่พยายามหาประโยชน์จากพลังของวัยรุ่น พลังของคนรุ่นใหม่ พลังของเด็กและเยาวชน จึงขอฝากให้น้องๆทุกคนเวลาทำอะไรขอให้พูดคุยกัน ช่วยกันคิด เพราะอีกไม่นานประเทศชาติจะอยู่ในมือของทุกคนแล้ว เราจึงต้องคิดว่าอยากเติบโต อยากให้ประเทศชาติ เป็นเช่นไร จะทำอะไรก็แล้วแต่ขอให้ใช้สามัญสำนึก ใช้ความรู้สึก เพราะบางเรื่องไม่ได้ตัดสินด้วยสมองแต่ตัดสินด้วยใจ ใช้ใจตัดสินว่ารู้สึกว่าใช่หรือไม่ สังคมไทยมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ดังนั้นไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็แล้วแต่ แต่หลายสิ่งหลายอย่างยังคงอยู่ ความคิดและแนวทางการเติบโตของทุกคนและของประเทศอยู่ในมือของทุกๆคนในสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามน้องๆต้องเตรียมศักยภาพของทุกคนมองให้รอบด้าน คิดให้ครบทุกมิติ ทุกวันนี้ความละเอียดอ่อนของสังคมนั้นเปลี่ยนไป วัยรุ่นจำเป็นต้องมีคนให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง แต่ผู้ใหญ่บางคนยังไม่เข้าใจ วัยรุ่นสมัยนี้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น มีปัญหาหลายอย่างมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการชี้แนะ การให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะมีไลฟ์โค้ดเยอะมาก ดังนั้นการให้คำปรึกษาทางจิตใจ ความรู้สึก ต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนไปถึงความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งทาง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพม. ให้ความสำคัญ

“การเดินทางของชีวิตพวกเราไม่มีอะไรง่าย ยิ่งโตยิ่งยากขึ้นแต่ที่ดีก็คือเราจะรู้สึกสบายตัวขึ้น ไม่ใช่เพราะปัญหาน้อยลง แต่จะเริ่มชินกับปัญหา อย่างทุกวันนี้พี่ท็อปเป็นทั้งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา รัฐมนตรี ล้วนมีปัญหาร้อยแปด แต่ก็เริ่มชินแล้ว อยู่ไปสักพักก็จะดีเอง

ดังนั้นการบริหารจัดการทางความคิด แนวทางการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยจากนี้ไปจึงเป็นอะไรที่ท้าทาย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่รวมไปถึงสังคมโลก

ดังนั้นจึงได้ย้ำว่าเราต้องรู้สถานการณ์เหตุการณ์ของโลก ต้องเป็นพลเมืองของโลก ไม่ใช่เป็นแค่คนไทย และเราจะได้มองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แล้วจะเข้าใจว่าเราเล็กขนาดไหน ทำงานต้องคิดให้ใหญ่ แต่ลงมือทำให้เล็กเข้าไว้ ทำทีละก้าวๆ เพราะถ้าคิดจะทำอะไรใหญ่ทีเดียวมันไม่ง่าย และประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ เดินไปด้วยกันแล้วจะไปรอด” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)เกิดขึ้นเมื่อปี 2538 สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วยคนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกสถานะ รวมไปถึงมีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาด้วย

และเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะมีการคัดเลือกตัวแทนของเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราจะร่างนั้นจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และรับฟังเสียงของทุกๆคน