ขยายผลงานวิจัยเชิงพื้นที่ “โคเนื้อน่าน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ผศ.น.สพ.ดร. วินัย แก้วละมุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกรกลไกความร่วมมือและขยายโอกาสทางการตลาดโคเนื้ออย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน”

ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า  คณะทำงานได้นำผลการวิจัยเชิงพื้นที่ดังกล่าวขยายผลในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้กับเกษตรกร  

โดยปี 2563 ที่ผ่านมา บพท.ได้ให้งบวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งพบว่าโคส่วนใหญ่ที่เกษตรกรเลี้ยงเป็นพันธุ์พื้นเมือง ไม่มีการพัฒนาพันธุ์ เลี้ยงแบบปล่อยขาดการบำรุง  วัวผอมไร้โอกาสต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง

อีกทั้งเกษตรกรมีความคิดว่าขายได้ราคาเท่าไหร่ก็ถือว่าเป็นเพียงเงินผลพลอยได้ระหว่างการทำการเกษตรเพาะปลูกพืชเท่านั้น  

ทั้งนี้ทีมวิจัยจึงได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่ออบรมและสอนการพัฒนาพันธุ์โคให้ดีขึ้น สร้างให้เกษตรกรเป็นนักผสมเทียม โดยความร่วมมือกับหน่วยงายที่เกี่ยวข้องเช่นกรมปศุสัตว์ เพื่อให้เกิดนวัตกรชุมชนในแต่ละระดับและสร้างเทคโนโลยีการผสมเทียม แอปพลิเคชั่น Mor More เทคโนโลยี การเหนี่ยวนำการเป็นสัด ความรู้ด้านสุขภาพสัตว์ และความรู้ด้านอาหารสัตว์ให้แก่นวัตกร

สามารถพัฒนานวัตกรชุมชนรวม 62 คน นวัตกรองค์กรปกครองท้องถิ่น 12 คน และนวัตกรเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จำนวน 18 คน ดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกรใน 17 ตำบล ในพื้นที่ 10 อำเภอ (จากทั้งหมด 15 อำเภอ) ของน่าน


 
โดยมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคเนื้อที่สนใจ 245 ครอบครัว มีโคเนื้อ 1,452  ตัว จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดทั้งหมด 7,738 ราย  โค 47,563 ตัว  

ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การช่วยพัฒนาต่อยอดเกษตรกรเลี้ยงโค  ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

“ การส่งเสริมผ่านกลไกพื้นที่ทำให้สามารถผลักดันเข้าแผนบูรณาพัฒนาโคเนื้อของจังหวัดผสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายของภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่น

ทำให้เกษตรกรเห็นว่าทีมนี้เอาจริง เข้าร่วมและเรียนรู้กันแบบจริงจัง  เกษตรกรร่วมใจเกิดเครือข่าย เกิดการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อแปลงใหญ่นาน้อยที่มีกิจกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำคือการแปรรูปที่อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐานต่อไป  คาดว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 8.6 ล้านบาทในช่วง 5ปีของโครงการ”

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาตร์องค์กร หน่วย(บพท.) กล่าวว่า  บพท. มีเป้าหมาย ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยความรู้และนวัตกรรม ขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์  ส่งเสริมและเชื่อมโยงกลไกการทำงานประสานความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สร้างกลไกในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง และสร้างผู้นำและการพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง  

เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากคนในชุมชนเองจึงจะเกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงเชื่อว่า การพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของจังหวัดน่านภายใต้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรและกลไกภาคีในพื้นที่จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแน่นอน

นางสาวชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพอำเภอนาน้อย กล่าวว่า เริ่มเข้าวงการนี้เมื่อปี 63 จากที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย กลับบ้านเกิดช่วงวิกฤติโควิด19 

ปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิก 27 คน   เป็นเกษตรกรที่เคยเลี้ยงกันตามธรรมชาติครัวเรือนละ 2- 5 ตัว  ซึ่งในปี 63  ราคาขายโคมีชีวิตอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัว ในปี 64 ราคาโคมีชีวิตลดลงเหลือ 8,000 ถึง 10,000 ต่อตัวหรือประมาณ30 บาทต่อกิโลกรัมถูกกว่าค่าอาหารเลี้ยงโค 

ทั้งที่หน้าเขียงขายเกือบ 300  ต่อกก.  จึงเป็นจุดสำคัญที่เกษตรกรร่วมตัวกันได้ง่ายและเข้าร่วมกับทางทีมของจุฬาฯเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเลี้ยงทั้งโคต้นน้ำเพื่อสร้างการต่อรอง ซึ่งเมื่อเริ่มเลี้ยงตามวิชาการคืออาหารและน้ำถึงไม่ใช่เลี้ยงตามมีตามเกิด มีแปลงหญ้าเพิ่มทำให้โคอ้วนขึ้น และได้ร่วมกันตั้งกองทุนผสมเทียมจากเงินของสมาชิกที่ช่วยกัน

ปัจจุบันจะเน้นการเลี้ยงกลางน้ำให้เพิ่มขึ้น เป้าหมายคือต้องการขายให้ได้ราคาที่เป็นธรรมกับผู้เลี้ยงซึ่งต้องมาจากการเลี้ยงที่ได้คุณภาพจึงจะสามารถต่อรองได้  ปัจจุบันกลุ่มแปรรูปเป็นเนื้อสวรรค์ เนื้อเค็มตามรูปแบบของพื้นบ้านเท่านั้น  ซึ่งตลาดตอบรับดี จึงคาดหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นโรงงานแปรรูปให้ได้มาตรฐาน จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

นายชาติชาย แซ่เติ๋น  ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำแป่ง อ.ท่าวังผา จ.น่าน มีอาชีพปลูกพริกแต่เมื่อทางจุฬาฯเข้ามาส่งเสริมเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงสนใจเข้ามาอบรมด้านวิชาการทั้งการผสมเทียม การดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้น โดยผู้ใหญ่ยอมรับว่า เดิมยังไม่สนใจว่าโคต้องกินหญ้า กินน้ำเท่าไหร่ต่อวัน เป็นการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ผอม น้ำหนักไม่ดี

เมื่อลองเลี้ยงตามคำแนะนำที่เรียนมา การกินอาหารที่มีคุณภาพกินหญ้าสดกินน้ำต่อวันให้เพียงพอ เลี้ยงตามวิชาการมา   ขณะนี้โคที่เลี้ยงมีรูปร่างดี น้ำหนักดี เชื่อว่าจะเป็นอาชีพที่มีอนาคตเป็นเงินออมก้อนใหญ่สำหรับครอบครัวตัวเองและเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนได้ศึกษากันต่อไป