เร่งสอบหาข้อเท็จจริง เหยื่อเมืองเล้าก์ก่าย

(19 พฤศจิกายน 2566)นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) กล่าวถึงกรณีการช่วยเหลือคนไทยจากเมืองเมืองเล้าก์ก่ายจากสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา จำนวน 41 คน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

และอยู่ในระหว่างการที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประวัติโดยละเอียด เพื่อคัดแยกกลุ่มผู้บริสุทธิ์ที่ประกอบสัมมาอาชีพสุจริตออกจากกลุ่มที่เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับและกลุ่มที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการช่วยเหลือคนไทยให้เกิดความปลอดภัย

โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาทุกหน่วยงานพยายามเร่งให้การช่วยเหลือรับคนไทยกลับมาประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

ซึ่งกระทรวง MDES ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าบางคนในจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และอาจมีหมายจับติดตัว

ซึ่งจะต้องแยกแยะให้ชัดว่าเป็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ถูกล่อลวงบังคับขู่เข็ญให้ไปทำหรือไม่

ซึ่งตนได้สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมสอบสวนหาเบาะแสเพื่อขยายผลดำเนินการทางกฎหมายปราบปรามปัญหานี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก่อปัญหาคุกคามคนไทยมายาวนาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แสดงความห่วงใยประชาชนคนไทยระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่าหลงเชื่อชาวต่างชาติที่ชักชวนให้ไปทำงานในต่างประเทศด้วยวิธีการต่างๆ ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มทุนจีนสีเทา ถูกบังคับขู่เข็ญและทารุณกรรมให้กลับมาหลอกลวงคนไทยอีก

อีกทั้งขณะนี้ในหลายประเทศได้ดำเนินการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก รัฐบาลไทยก็ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการกวาดล้างภัยคุกคามคนไทยอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน