ปลายปี 66 ไม่หนาว ปี 67 ร้อนแล้งสุด


 

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ระบุว่าปลายปีนี้ (2566)จะไม่หนาวแต่ปีหน้าร้อนแล้งสุดสุด

ปลายฝน ฝนก็ตก โดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

สำหรับน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติครับ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ (เช่น ปีเอญนิญโญ) มีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้

การพยากรณ์รายฤดูกาล แบบจำลองโดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริงปริมาณฝนเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19% ตามลำดับโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน

(อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติน่ะครับ ยกเว้นภาคอีสาน)

ดังนั้นการพยากรณ์ฝนปีนี้จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนาจึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือนน่ะครับ

 แม้ว่าเดือนกันยายน และตุลาคมจะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน

แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่าช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง
 

และเมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือนธันวาคม และเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าในเดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 2oC นั่นหมายความว่าปีนี้เราจะไม่หนาว

ในขณะเดียวกันอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5oC เราก็จะร้อนสุดๆเหมือนกัน จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอ็นนิญโญ)

ดังนั้นปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าเสื้อหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดีน่ะครับ พ่อค้า แม่ค้า อย่าสั่งมาตุนเยอะน่ะครับ

ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีจูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตรทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่  ในลุ่มเจ้าพระยา

แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา)

ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูงหากไม่มีการวางแผน ข้อมูลล่าสุดจากแบบจำลองหลายชุดบ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป

ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรัยช่วงต้นฤดูฝน ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วยครับ

และที่สำคัญเกษตรกร และชาวนาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดน่ะครับ เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน