สนับสนุนยกระดับ 30 บาทพลัส


 

สปสช. พร้อมสนับสนุนรัฐบาล เร่งเดินหน้า 5 นโยบายสำคัญ ยกระดับ 30 บาทพลัส ก่อนเริ่มอย่างเป็นทางการ 1 ม.ค. 67

ทั้ง บริการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มะเร็งครบวงจร เพิ่มหน่วยบริการให้มากขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการดูแลสุขภาพจิตในระดับชุมชน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท หรือ “30 บาทพลัส” ว่า กว่า 2 ทศวรรษของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ในช่วงแรกๆ เน้นการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องเสียเงินเอง หรือขอรับการอนุเคราะห์ เปลี่ยนเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน ที่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ขณะที่ในส่วนของ 30 บาทพลัสนั้น ในภาพใหญ่เน้น 4 เรื่อง 1.ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นให้มีหน่วยบริการมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดบริการไปอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น เช่น ไปรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน การมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไปถึงโรงเรียน เป็นต้น 2.ลดความแออัดในโรงพยาบาล 3.ทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น และ 4.เพิ่มคุณภาพบริการให้มากขึ้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาในการดำเนินการยกระดับบัตรทอง 30 บาท

ทางกระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2567

อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ได้เริ่มมีการทดลองนำร่องในบางพื้นที่ก่อน เช่น จ.แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และ นราธิวาส ซึ่งบริการที่จะเริ่มนำร่อง ประกอบด้วย

1. ใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการได้ทุกที่ จากเดิมผู้มีสิทธิบัตรทองต้องมีหน่วยบริการประจำหน่วย ถ้าเกินศักยภาพบริการก็ส่งตัวให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพบริการ โดยมีใบส่งตัวที่มีรายละเอียดอาการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาที่ให้บริการแล้ว เพื่อให้โรงพยาบาลรับส่งต่อจะได้รักษาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนา โดยเฉพาะระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ การเขียนใบส่งตัวจึงไม่จำเป็น เพราะสามารถส่งต่อข้อมูลการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่การจะรู้ว่าคนไข้คือใคร จะต้องมีการยืนยันตัวเองโดยใช้บัตรประชาชน ดังนั้นนโยบายสำคัญข้อแรก คือการใช้บัตรประชาชนไปรักษาได้ทุกที่ ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของระบบข้อมูลอยู่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

2. รักษามะเร็งครบวงจร เริ่มตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบผู้ป่วยก็จะถูกส่งต่อเข้าสู่การรักษา พร้อมประวัติข้อมูลต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อกันให้ผู้ป่วยได้รับบริการเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. เข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. แม้จะมีโรงพยาบาลในพื้นที่หลายแห่ง แต่ในบางพื้นที่ก็เข้าถึงบริการได้ยาก ดังนั้นจึงจะมีการเพิ่มหน่วยบริการ เริ่มจากแขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ซึ่งเป็นจุดที่หน่วยบริการยังมีน้อย รวมทั้งการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการมากขึ้น ทั้งร้านยา แลปเอกชน คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาล  

4. สถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้าย เดิมทีจะดูแลกันในโรงพยาบาล แต่พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ประสงค์อยากกลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งการดูแลระยะท้ายจะต้องดูแลโดยมีหลักวิชาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายนี้จะเป็นการร่วมมือกันทั้งหน่วยงานทางสังคม เช่น วัดในชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาล

5. การดูแลเรื่องสุขภาพจิต เป็นวาระสำคัญที่จะขับเคลื่อนลงไปถึงในระดับชุมชน ขณะเดียวกัน สปสช. มีสายด่วน 1330 เป็นตัวกลางในการประสานงาน เมื่อมีปัญหาในการรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำว่าควรไปรับบริการที่ไหน ไปจนถึงปัญหาขัดข้องที่พบระหว่างการรับบริการ และนอกจากสายด่วน 1330 แล้ว สปสช. มีช่องทาง Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ Line OA สปสช. ก็ติดต่อทั้ง 2 ช่องทางนี้ได้เช่นกัน

“จาก 5 นโยบายที่จะเริ่มนำร่องเพื่อยกระดับ 30 บาทพลัสนั้น สปสช. ในฐานะหน่วยงานที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน พร้อมที่จะสนับสนุนการเดินหน้านโยบายอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่จัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกลในการดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข และเป็นสิทธิที่ประชาชนไทยทุกคนพึงจะได้รับ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว