ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คัดคนรวยออก


 

เมื่อวันที่ 25 ตค.66 ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นายจุลพันธ์ แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็นปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมรัศมี 4 กิโลเมตร เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอ

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ายังมีความเห็นแตกต่างในที่ประชุม ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งจะต้องเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐาเป็นประธานตัดสินใจอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพราะมีมุมมองที่แตกต่าง

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีหลายประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เป็นหนึ่งในวาระที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และต้องส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา

โดยมีความเห็นแตกต่างใน 2 ส่วน คือ 1.เมื่อตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องการให้คนร่วมมากๆ แบ่งเบาภาระประชาชน จึงมีข้อเสนอให้คัดคนรวยออก ซึ่งก็ต้องไปหาคำจำกัดความของส่วนนี้

"จะมีการเสนอให้คณะกรรมการตัดสินใจรวม 3 ทางเลือก คือ 1.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

2.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท

และ 3.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท"

ในส่วนประเด็นการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ์ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ใช้จ่ายได้ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ส่วนระบบการขึ้นเงินได้สำหรับร้านค้าในระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

"ส่วนของแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหลากหลายแนวทาง ทั้งการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินกู้ และการใช้กลไกอื่นๆ

 

เช่น มาตรการกึ่งการคลัง โดยโจทย์ของฝ่ายนโยบายที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น คือการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก

กลไกดำเนินการคือผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอให้ดำเนินการโดยใช้งบผูกพัน

เช่น หากโครงการ 4 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบผูกพัน 4 ปี โดยเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท

ดังนั้นการขึ้นเงินของร้านค้าก็อาจจะต้องชะลอไป ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดในเงื่อนไข ตรงนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเสนอให้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง"

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าตรงนี้จะเป็นทางเลือกท้ายๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

โดยยืนยันว่าในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะติดขัดข้อกฎหมาย กรอบอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุมการดำเนินการ

"เราเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐสภา กลไกการใช้งบประมาณแผ่นดินจึงเป็นตัวเลือกแรก เพราะโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการอนุมัติโดยตัวแทนประชาชน ทั้ง สส.และ สว. กลไกของแหล่งเงินนี้เป็นกลไกที่รัฐบาลเลือกมาโดยตลอด แต่ก็ต้องมาพิจารณาตามกรอบข้อเท็จจริง อยู่ๆ จะมีงบ 5.6 แสนล้านบาท ยัดเข้าไปทีเดียวในงบประมาณปี 2567 ปีเดียวเลยคงไม่ได้ ต้องมาบริหารจัดการให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ภายในกรอบงบประมาณที่จำกัด รัฐบาลจะไม่มีการตัดโครงการลงทุน หรือโครงการอื่นๆ ของรัฐ ทั้งหมดต้องเดินควบคู่กันภายใต้การบริหารจัดการให้ดีที่สุด" นายจุลพันธ์กล่าว

ถามว่าจะเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป็นการขาดดุลตามกรอบงบประมาณที่วางแผนไว้ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และการเลือกใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก ก็ถือเป็นทางเลือกที่มองแล้วน่าสนใจจริงๆ

 “เรายืนยันว่าจะใช้กรอบงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักเหมือนเดิมตามที่ฝ่ายนโยบายได้เคยให้โจทย์ไว้ ส่วนเรื่องออมสินคงไม่เกี่ยวข้องแล้ว เพราะติดขัดข้อกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่เมื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบงบประมาณปี 2567 ซึ่งอาจจะล่าช้าไปราวเดือน เม.ย.-พ.ค.2567 ก็ยอมรับว่าโครงการแนวโน้มน่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่ง จากเดิมวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่ก็มีข้อดีคือเราจะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่ อย่าเพิ่งสรุป แต่รัฐบาลจะพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด”