น่าเสียดาย ..ไม่มีข้อยุติ !!

 

‘ชัยธวัช’ หวั่นประชาชนมองไม่สง่างาม หลัง ‘วันนอร์’ ชิงปิดประชุม ยืนยันประธานควรเปิดรัฐสภาลงมติ

ด้าน ‘รังสิมันต์’ แจงก้าวไกลไม่ได้เสนอญัตติซ้ำ ย้ำปัญหาของสภาแก้ได้ที่สภา

(4 สิงหาคม 2566)ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลัง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.

ทำให้วาระสำคัญอย่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องถูกเลื่อนออกไป

นายชัยธวัช ยืนยันว่าญัตติที่ สส.พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการทบทวนมติรัฐสภาเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ อยู่ภายใต้การกำกับของข้อบังคับฯ ข้อ 41 นั้น เป็นกระบวนการตามปกติ เป็นญัตติที่ถูกต้อง และประธานสภาควรเปิดให้มีการลงมติ

“ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้นายวันนอร์ดำรงตำแหน่งประธานสภา มีข้อกังวลว่าการปิดสภาวันนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าไม่สง่างาม

อาจถูกมองได้ว่าเมื่อเห็นว่าเสียง สว. ไม่มากพอจึงไม่นำไปสู่การลงมติ หวังว่าการดำเนินการประชุมหลังจากนี้จะดีขึ้น”

เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า การเลือกนายกฯ ของรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องรอมติของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา และที่สำคัญ ต่อให้สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาลงมติว่าให้เลื่อนวาระการเลือกนายกฯ ออกไปก่อน ก็ยังมีวาระที่สองคือพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งมีความสำคัญมาก

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเลือกนายกฯ มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง การพิจารณาเพื่อปิดสวิตช์ สว. ตามร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ หากผ่านวาระที่หนึ่ง จะทำให้สถานการณ์การเลือกนายกฯ ไม่เดินไปสู่ทางตัน จึงหวังว่าการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปจะดำเนินการประชุมได้โดยเร็วที่สุดและเป็นปกติ

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ สส. พรรคก้าวไกลพร้อมทำหน้าที่ เราตั้งใจยื่นญัตติเพื่อขอทบทวนมติรัฐสภา หลังจากก่อนหน้านี้มีการเข้าชื่อกันของนักวิชาการ และผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การพิจารณาเลื่อนวาระเลือกนายกฯ

แต่ในความเป็นจริง กระบวนการที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ใช้อำนาจกลไกของสภาฯ หาทางออกได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญ

"พวกเราไม่มีเจตนาประวิงเวลา ความเป็นจริงท่านประธานต้องให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้เร็วที่สุด และหวังว่าเมื่อสภามีมติไปแล้ว เช่น มติให้ทบทวนและเลิกในผลที่เราเคยมีมติ ก็จะได้ไม่ต้องมาเจอเงื่อนไขเลื่อนการประชุมครั้งต่อไป เพราะไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรในอนาคต"

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่าการเสนอของพรรคก้าวไกลในวันนี้ไม่ใช่ญัตติซ้ำ เพราะเนื้อหาสาระคือการเสนอให้ทบทวน ซึ่งแตกต่างจากวันที่ 19 กรกฎาคม ที่เป็นมติเรื่องการตีความข้อบังคับว่าการเสนอชื่อนายกฯ คือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเสนอได้อีกหรือไม่ ตามข้อบังคับฯ ข้อ 41

ส่วนที่ประธานสภาฯ พยายามอธิบายว่าตามข้อบังคับฯ ข้อ 151 มีข้อความระบุการตีความนั้นต้องเป็นการตีความที่เด็ดขาด แต่คำว่าเด็ดขาดในที่นี้หมายความว่าเมื่อตีความไปแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดยกเรื่องเดิมมาอีกไม่ได้

ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้ที่ประชุมของรัฐสภามีการทบทวนวินิจฉัยอีกครั้ง เทียบเคียงกับองค์กรอื่น เช่น ศาล ที่มีอำนาจเด็ดขาดลักษณะเดียวกัน ถึงที่สุดก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นยืนยันว่าการเสนอเช่นนี้ทำได้แน่นอน และเพื่อนสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยก็ได้ช่วยยืนยันแล้ว

"ทั้งหมดนี้จึงน่าแปลกใจและน่าเสียดายที่การประชุมของสภาต้องสิ้นสุดโดยไม่มีข้อยุติอะไรเลย ที่น่าเสียดายที่สุดคือวาระพิจารณายกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นประตูทางออกของประเทศ วันนี้เราทราบตั้งแต่ต้นว่ามีความพยายามล้มการประชุม ถ้าไม่ได้ สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ช่วยกระตุ้นก็คงไม่มีการแห่เข้ามาประชุม แต่การใช้วิชามารแบบนี้ คำถามสำคัญที่พี่น้องประชาชนถามก็คือ ประเทศได้อะไร" รังสิมันต์กล่าว

ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน นายชัยธวัช ได้ยืนยันว่าหากมีการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า จะเสนอญัตติให้มีการทบทวนมติรัฐสภาอีก เพราะวันนี้ญัตติไม่ได้ตกไป เพียงแต่เลื่อนพิจารณา ส่วนการยกเลิกมาตรา 272 มีความสำคัญต่อสถานการณ์การเลือกนายกฯ เป็นอีกมาตรการที่ทำให้การเมืองไม่ไปสู่ทางตัน

ทั้งนี้ยืนยันว่าทั้ง 2 เรื่องไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมืองใด แต่มีผลต่อแคนดิเดตของทุกพรรคการเมือง