ทำตามกระแส(หรือ)กลัวทัวร์ลง


 

สว. เสรี จวก ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน สั่งชะลอเลือกนายกฯ หรือตรวจสอบ มติรัฐสภา ชี้มีหน้าที่แก้ปัญหาในอนาคต ไม่ใช่ทำตามกระแส หรือกลัวทัวร์ลง ย้ำ นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ต้องทำหน้าที่ถ่วงดุล

ด้านรองเลขาฯแจงทันที เหตุส่งศาลเพราะหวั่น เกิดผลเสียต่อ รธน.ยกผลสำรวจ ผู้ตรวจ ได้รับความเชื่อมั่น สูงสุดในองค์กรอิสระ

ระหว่างการประชุมวุฒิสภาวันนี้ (25 กค.66 )เพื่อพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. อภิปรายว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

จะขอไม่ก้าวล่วงในอำนาจศาล แต่เห็นว่าอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องเสียงบประมาณการจ่ายให้กับองค์กรนี้นับพันล้าน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหนึ่งในเจ็ดองค์กร ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต

และเพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพไม่ใช่ทำตามกระแสหรือตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง 17 เรื่องทำให้เป็นกระแสกดดันผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ซึ่งส่วนตัวเข้าใจเพราะปัจจุบันคน และหน่วยงานต่างๆ กลัวทัวร์ลงกันเยอะ จึงทำให้มีแรงกดดันในสังคมไทย แต่ส่วนตัวเห็นว่าหลายหน่วยงานต้องมีมาตรฐาน ในการทำงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และ การมีมาตรฐานนั้น ต้องยึดหลักยึดมั่นในรัฐธรรมนูญที่แบ่งหน้าที่ชัดเจนแล้วว่ามีฝ่ายนิติบัญญัติ , บริหารและตุลาการ

ซึ่งเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ในสภา ใช้ดุลยพินิจของสมาชิกปัจจุบัน ทำงานร่วมกัน 750 คน การทำหน้าที่ในรัฐสภาถือว่าเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ

การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีคนถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการซึ่งกันและกัน

ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความชัดเจนต้องแก้ปัญหาใน 2-3 เรื่องตามบทบัญญัติไว้ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือมติรัฐสภา และเมื่อท่านได้งบประมาณไป แล้วใช้อำนาจในทางที่เกิดปัญหาต่อบ้านเมืองได้ การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติเมื่อตัดสินแล้วต้องยุติในรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าสภา ตัดสินวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้วส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรู้ความสามารถ ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่อย่างไร

ดังนั้นส่วนตัวเป็นห่วงว่า หากรัฐสภาต่อไปทำงานไปแล้ว เกิดมีคนไม่พอใจหรือนักการเมืองด้วยกันเองไม่พอใจยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่มีคนร้องเยอะๆกลัวทัวร์ลงก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันเพราะมันเกี่ยวเชื่อมโยงกับงบประมาณที่กำหนดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา

ดังนั้นในการทำหน้าที่ ต้องมีกรอบพอสมควร กับการที่จะดำเนินการ จะกลับปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภา งดหรือหยุดการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครั้งที่ 3 มันเป็นไปได้อย่างไร

ถ้าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามสิทธิเสรีภาพก็สามารถยื่นได้ แต่ ไปขอให้รัฐสภางดการประชุมเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาล ทั้งๆที่บ้านเมืองต้องมีนายกรัฐมนตรีต้องมีรัฐบาล เห็นหรือยังว่าบ้านเมืองเสียหายแค่ไหน
ส่วนตัว ไม่ได้ห้ามเรื่องดุลยพินิจแต่มองว่า สิ่งที่ห้ามมิให้รัฐสภาประชุม หรือทำหน้าที่ต่อ อันนี้ไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายฑิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงทันทีว่า ได้มีการประเมินตัวชี้วัดเรื่องการทำงานว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียนซึ่งผลตอบรับพอใจกว่า 80%

ขณะที่สถาบันพระปกเกล้าสำรวจความเชื่อมั่นองค์กรอิสระพบว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงสุด ในองค์กรอิสระคือ 62% เท่ากับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด

ส่วนเรื่องที่นายเสรีระบุถึงเรื่องการส่งข้อบังคับการประชุมที่ 41 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น นายฑิฆัมพร ยืนยันว่าองค์ประกอบครบถ้วนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนข้อเสนอที่ให้ชะลอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายฑิฆัมพร ระบุว่า หากข้อบังคับที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหากเลือกนายกรัฐมนตรีไปก็จะเกิดผลเสียต่อรัฐธรรมนูญจึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย และเรื่องนี้เป็น การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด

ด้านนายเสรี ลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้งว่าสถาบันพระปกเกล้าเอง ประเมินตัวเองได้ 100% ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินสู้ไม่ได้
ส่วนการที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปนั้น มองว่าไม่สามารถทำได้ และยัง ทำให้มองว่าสิ่งที่ส่งไปเป็นเรื่องข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นเรื่องจริงทำให้สาธารณชนสับสน เพราะไม่ได้ลงมติถึงข้อบังคับและรัฐธรรมนูญอะไรใหญ่กว่ากัน

และผู้ตรวจฯไม่ได้ ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกฯซ้ำได้ แต่ต้องมีสมาชิกรองรับ 2 ใน 3  อีกทั้งประธานรัฐสภา ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่ทำหน้าที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว