ตลาดแรงงานภายใต้การเปลี่ยนผ่าน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ

เรื่อง อนาคตตลาดแรงงานภายใต้การเปลี่ยนผ่าน เพื่อศึกษาสถานการณ์ตลาดแรงงานหลังการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตเศรษฐกิจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

วิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการ การพัฒนาทักษะใหม่ให้แรงงานที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภาพแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมี นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ดำเนินการอภิปราย ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายบุญชอบ กล่าวว่า การสัมมนาทางวิชาการในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะด้านแรงงาน ประจำปี 2566 ที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

ซึ่งในครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษาปัญหาตลาดแรงงานภายหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระแสโลกาภิวัตน์ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และกำลังคุกคามต่อแรงงานของประเทศ

อาทิการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทเทคโนโลยี การเกิดโรคอุบัติใหม่ สงครามทางเศรษฐกิจ ทัศนคติการทำงานของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

และขอชมเชยผู้จัดการสัมมนาที่เลือกหัวข้อ “ ตลาดแรงงานภายใต้การเปลี่ยนผ่าน ” มาเป็นหัวข้อการสัมมนาในวันนี้ เพราะตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่มีพลังมาก การแก้ไขปัญหานอกจากต้องทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันอีกด้วย รูปแบบหนึ่งของการทำงานร่วมกันที่กระผมใคร่ขอยกมากล่าวถึงในวันนี้ คือ “ระบบไตรภาคี”

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่มีการนำระบบกรรมการไตรภาคีมาใช้มากที่สุด โดยมีถึง 15 คณะ

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมอนุกรรมการไตรภาคี และคณะทำงานไตรภาคีที่ช่วยปฏิบัติงานให้กับกรรมการไตรภาคีอีกจำนวนมาก

เช่น อนุกรรมการเพื่อศึกษาเฉพาะด้าน อนุกรรมการที่ทำงานในระดับจังหวัด สำหรับกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้จัดงานสัมมนาในวันนี้ คือ หนึ่งใน 15 กรรมการไตรภาคี ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจัดตั้งมาแล้วกว่า 45 ปี มีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะคือคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47

โดยกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ มีบทบาทสำคัญในด้านเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับแรงงาน โดยเฉพาะในด้านการเสนอนโยบาย ให้ความเห็นการพัฒนา และแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้านแรงงาน

“แรงงาน คือ สิ่งสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวพ้นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านได้

กระผมจึงมุ่งหวังให้เวทีในวันนี้ เป็นเวทีที่จะบูรณาการความร่วมมือ และระดมความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะด้านแรงงาน เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป” ปลัดฯ แรงงานกล่าวทิ้งท้าย