วันผู้สูงอายุแห่งชาติ รณรงค์ลูกหลานดูแล “ผู้สูงอายุไทย” ใช้สิทธิบัตรทอง

 

13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ สปสช. รณรงค์ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ ดูแลให้เข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุทุกคน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 ให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ “วันสงกรานต์” เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ด้วยสุขภาพของผู้สูงอายุที่เสื่อมถอยไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้มีสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ให้ได้รับการดูแลสุขภาพและเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น


 
ทั้งบริการรักษาพยาบาลพยาบาลที่ครอบคลุมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง และโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มักพบในผู้สูงอายุ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคข้อเสื่อม โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ บริการฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหรืออายุ 65 ปีขึ้นไป) การคัดกรองภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งช่องปาก เป็นต้น รวมถึงการฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อมซึ่งมักเป็นภาวะที่พบในผู้สูงอายุ การตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแทพย์สำหรับผู้สูงอายุ และเป็นสิทธิประโยชน์บริการที่ สปสช. ดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้ไม่แต่บริการฟื้นฟูฯ เฉพาะภายใต้กองทุนบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น แต่ยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ร่วมดูแลผู้อายุภายใต้โครงการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่    

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ ด้วยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” สปสช. ได้มีสิทธิประโยชน์เพื่อผู้สูงอายุเพิ่มเติม และบริหารจัดการที่เพิ่มการเข้าถึงบริการ ได้แก่

    
แว่นสายตาสำหรับผู้สูงอายุที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาว จำนวน 5 แสนราย โดยเป็นการดำเนินการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นในการค้นหา คัดกรอง จัดซื้อแว่นสายตาและมอบให้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการมองเห็น โดยกำหนดงบประมาณดำเนินการประมาณ 60 ล้านบาท
    
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ และแผ่นเสริมซึมซับการขับถ่าย เพื่อผู้สูงอายุใน 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีคะแนน ADL (ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน) ระหว่าง 0–6 คะแนน และผู้ที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ โดย สปสช. สนับสนุนให้พื้นที่ดำเนินงานสำรวจ ค้นหา ผู้สูงอายุ และผู้มีสิทธิรับการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ โดยจัดทำแผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล care plan และนำเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ได้แก่ กองทุนสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง (Long term care) กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ปี 2566 กำหนดเป้าหมาย 5 ล้านชิ้น ดูแล 50,000 ราย งบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท

 

ฟันเทียมและรากฟันเทียม สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ที่สูญเสียฟันที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยเป็นฟันเทียมจำนวน 72,000 ราย (สำหรับประชาชนไทยทุกสิทธิการรักษา) และรากฟันเทียม สำหรับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม 7,200 ชิ้น (รากฟันเทียมสำหรับประชาชนไทยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น) ดำเนินการภายใต้ โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ระยะเวลาดำเนินการ ปี 25666-2567

“วันผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญกับทุกๆ ครอบครัว หลายคนที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานหรืออาศัยอยู่ต่างถิ่น ได้ใช้โอกาสในการเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ สปสช.ขอร่วมรณรงค์ เพื่อให้ช่วยกันตระหนักให้ความสำคัญต่อผู้สุงอายุ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุให้เข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ซึ่งช่วยลดภาระค่าใชจ่ายครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว