วอน ครม. หยุดอนุมัติโครงการคมนาคมทิ้งทวน

"ก้าวไกล" เรียกร้อง ครม. หยุดอนุมัติโครงการคมนาคมทุกโครงการทิ้งทวนก่อนยุบสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "ศักดิ์สยาม" หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

วันที่ 3 มีนาคม 2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้อง กรณีที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

สืบเนื่องจากการคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

โดยศาลฯ พิจารณาให้ศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลฯ จะวินิจฉัย

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการยื่นคำร้องร่วมกันของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 54 คน ตั้งประเด็นหลักมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของตนเมื่อกลางปี 2565

โดยจากข้อมูลเอกสารที่ตนได้รับมานั้น พบว่าการโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งเคยเป็นของศักดิ์สยาม และได้โอนหุ้นออกไปก่อนจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น มีพิรุธอยู่ในหลายจุด

ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่รับโอน ซึ่งปรากฏว่ามีความพัวพันกับครอบครัวชิดชอบมาอย่างยาวนาน, การให้ หจก. ใช้ที่อยู่บ้านของตระกูลตนเองต่อยาวนานเป็นปี ทั้งๆ ที่ไม่มีสถานะผู้ถือหุ้น หรือกรรมการใน หจก.แล้ว, การยื่นทรัพย์สินของศักดิ์สยาม ที่น้อยจนผิดปกติ หากมีการขายหุ้นครั้งนี้จริง, ตัวเลขในงบการเงิน ที่มีความขัดแย้งกันในตัวเอง, ราคาในการซื้อขายซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับรายได้ของธุรกิจ และไม่ปรากฎหลักฐานการโอนเงินการซื้อขายหุ้นครั้งนี้

เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมด จึงพบความไม่สอดคล้องกันเต็มไปหมด และหนักแน่นพอที่จะกล่าวหาได้ว่าศักดิ์สยาม ยังคงความเป็นเจ้าของ หจก. แห่งนี้อยู่ และ หจก.แห่งนี้ ก็ยังได้รับงานจากกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่องเป็นมูลค่ามหาศาล ในช่วงที่ศักดิ์สยามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ พิสูจน์ว่า ถึงแม้จะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ไม่สามารถล้มรัฐมนตรีกลางสภาฯ ได้ แต่หากมีข้อมูลหลักฐานที่แน่นหนาพอ “ผู้แทนราษฎร” ก็ยังสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบจนอาจดึงรัฐมนตรีลงจากเก้าอี้ได้จริงๆ

ท้ายที่สุด ตนขอเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรี ที่กำลังจะอนุมัติงบ “ทิ้งทวน” ก่อนยุบสภาฯ ว่าขอให้ระงับโครงการที่เสนอเข้า ครม. โดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทั้งหมด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินในคูหาเลือกตั้ง ว่าใครควรที่จะเข้ามาบริหารเงินภาษีของพวกเขาในรัฐบาลชุดต่อไป