กทม. จับมือ สปสช. เดินหน้า แก้ปัญหา แว่นตาเด็ก ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประชากรแฝง

 

(21ก.พ. 2566)คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข. เขต 13 กทม.) และ ผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมประชุมหารือผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.

โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 69 แห่ง ให้เป็นผู้จัดการพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน เริ่มนำร่องบริการประชากรเฉพาะกลุ่ม

ได้แก่ 1. เด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตาให้ได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน เป้าหมาย 2 หมื่นคน

2.ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (Long Term Care: LTC) เป้าหมาย 2 หมื่นคน

และ 3. ประชาชนต่างจังหวัดที่มาทำงานและอาศัยใน กทม. จำนวนประมาณ 7 แสนคน ให้มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. ใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อได้รับการดูแลในระบบสุขภาพ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กทม. กล่าวว่า การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข เป็น 1 ใน 2 มิติความเหลื่อมล้ำใน กทม. และต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ซึ่งจากนโยบายของ กทม. ที่มุ่งขับเคลื่อนในระดับชุมชน จึงได้เน้นไปที่บริการระดับปฐมภูมิ ทั้งการส่งเสริมป้องกันและการดูแลรักษา เพื่อให้เกิดการเข้าถึง

โดยหน้าที่ของ กทม. เอง จะต้องกระจายระบบสาธารณสุขลงไปสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด ใช้กลไก ศบส. ทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน (Efficient Area) บริหารทรัพยากรในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ฯลฯ รวมถึงเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้เกิดภาพรวมของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์
 

“ความร่วมมือวันนี้เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้ำใน กทม. เพราะถ้าเราดูแลสุขภาพได้ดี มีโรงเรียนที่ดี สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะพัฒนาตัวเอง มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
 
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธาน อปสข. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ อปสข. ปี 2566-2567 เน้น 3 เรื่องหลัก คือ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง เชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันนี้คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. ในประเด็นสำคัญคือ การทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้จัดการพื้นที่ ให้สามารถดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากประชากรเฉพาะกลุ่มก่อน ได้แก่

1. เด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตาให้ได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน เป้าหมาย 20,000 คน 2. ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ได้รับการดูแล ( LTC: Long Term care) เป้าหมาย 20,000 คน และ ผู้ป่วยระยะกลาง (IMC: Intermediate care) เป้าหมาย 10,000 คน 3. ประชาชนต่างจังหวัดที่มาทำงานและอาศัยใน กทม. จำนวน 700,000 คน มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมมือวันนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ ศบส. เป็นจุดยุทธศาสตร์ และมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยอาศัยศักยภาพและความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน โดยกรณีประชากรแฝง ที่ประชุมเน้นย้ำ ต้องมีการจัดบริการให้เพียงพอกับจำนวนคนที่เข้ามา โดย สปสช.จะร่วมกับ กทม. เพิ่มหน่วยบริการเข้ามารองรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านยา ศูนย์กายภาพบำบัด คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือคลินิกที่เปิดเพียง 3-4 ชั่วโมง หากรวมหน่วยบริการทั้งหมดใน กทม.

ขณะนี้จะมีกว่า 900 แห่ง นอกจากนี้ สปสช.จะนำคนที่จำเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนใน กทม. มาขึ้นทะเบียนให้ครบทุกคน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรของ กทม. อย่างเต็มที่

“ผู้ว่าฯ กทม. ก็ยืนยันว่าพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่กับข้อเสนอที่ได้ตกลงร่วมกัน และ สปสช. ก็จะสนับสนุนกลไกอย่างเต็มที่เช่นกัน ซึ่งในที่ประชุมเราตกลงกันว่าอีกประมาณ 6 เดือนจะมาดูกันอีกครั้งว่าผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร” นพ.จเด็จ กล่าว