หลวงพ่อทวด พิมพ์กรรมการกลักไม้ขีด เนื้อว่าน พ.ศ.2497

0...วันนี้ชมพระเครื่องหลวงพ่อทวด ที่เพิ่งพบเห็นองค์จริงครั้งแรกนั่นคือพิมพ์กรรมการสี่เหลี่ยมหรือพิมพ์กลักไม้ขีด เนื้อว่าน พ.ศ.2497 เป็นการสร้างแจกกรรมการ จำนวนการสร้างน้อยมากแค่หลักสิบ ผ่านมาหลายสิบปี พระก็มีแต่หายไปจากตลาด คนที่สะสมก็เก็บเข้ารังหมด เนื่องจากเป็นพิมพ์พิเศษ องค์นี้ปิดทองเก่า เห็นรอยแตกรานตามอายุของว่าน ความเก่าไขว่าน คราบน้ำว่านที่คลุมทั่วองค์พระเป็นจุดที่ทำให้พิจารณาได้ง่าย แฟนทางบ้านส่งมาให้ชมเป็นแนวทางสะสม 
  
0...ขนาดของพระหลวงพ่อทวดพิมพ์กลักไม้ขีดนี้ ใหญ่พอสมควร วัดความกว้าง 2.8 ซ.ม. ความสูง 4.5 ซ.ม.ความหนา 1 ซ.ม. ด้านหลังปรากฎเป็นสถูปเจดีย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ถ้าจำไม่ผิดมีเพียงเหรียญรุ่นพุทธซ้อนเท่านั้นที่ปรากฎสถูปเจดีย์บนเหรียญด้วย 
 


0...มาส่องหรือขยายรูปดูก็เห็นเม็ดแดง เม็ดขาว ,ไขว่าน,คราบน้ำว่านที่คลุมทั่วทั้งองค์เหมือนกับพระเนื้อว่านพิมพ์อื่นในปีพ.ศ.2497  และ สีสันของมวลสารออกสีน้ำตาลอมดำเข้าใจว่าแก่ดินกากยายักษ์  สังเกตุการกดพิมพ์จะลึกเป็นมิติ องค์นี้ถือว่าสมบูรณ์แม้เม็ดดวงตาก็ยังปรากฎชัดเจน 
 
0...ในภาคใต้ไม่มีใครไม่รู้จักหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้  ท่านยังเป็นพระเครื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ  ด้วยพุทธคุณและความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นพระนิรันตราย จนมีคำกล่าวจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยซึ่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยว่า ไม่เคยพบเห็นคนที่ใส่หลวงพ่อทวดแล้วเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงแก่ชีวิต  ทำให้สาธุชนทั้งไทยและต่างประเทศต่างเสาะแสวงหามาบูชา  

 

0...รายนามสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานีก็มีชื่อวัดช้างให้  ทุกวันจะพบเห็นทั้งคนไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่างพากันไปกราบไหว้ขอพรจากท่าน พระเครื่องหลวงพ่อทวดนอกจากซื้อขายในไทยแล้ว ยังมีการซื้อขายเช่าหาทั้งที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และประเทศจีนอีกด้วย ค่านิยมของท่านมีแต่เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งพระที่จัดสร้างใหม่ยังมียอดจองสูงแทบทุกรุ่น 


0...มีคำกล่าวว่า “จะเอาอะไรให้ขอ แล้วจะเกิดผลดั่งใจ”  แค่สวดท่องคาถาของท่าน “นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา “ ก็สามารถอธิษฐานถึงท่าน ขอจากหลวงพ่อทวด ล้วนแล้วแต่เห็นผลดั่งใจ ทำให้ชื่อเสียงของพระหลวงพ่อทวด เลื่องลือระบือไกลตลอดมา  

 

0....ปีพ.ศ.2497 ตามบันทึกของคุณอนันต์ คณานุรักษ์ ได้ฝันถึงพระภิกษุชรารูปหนึ่งและได้เดินทางไปพบกับท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้ พร้อมกับเป็นผู้จัดสร้างพระหลวงพ่อทวด เพื่อแจกให้สาธุชนที่บริจาคเงินร่วมสร้างโบถส์ โดยมีชาวบ้านในท้องถิ่นมีส่วนร่วมไปช่วยหาว่านนานาชนิด มาถวายแก่ท่านอาจารย์ทิม รวมถึงดินว่านสีดำซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า กากยายักษ์ และเป็นมวลสารหลักของพระเครื่องรุ่นนี้  


0...ท่านอาจารย์ทิม มีเจตนาสร้างจำนวน 84,000 องค์ตามจำนวนพระธรรมขันธ์แต่ด้วยเงื่อนเวลาถึงแค่วันที่ 15 เมษายน 2497 สร้างพระได้เพียงแค่ 64,000 องค์ และพิธีปลุกเสกกำหนดไว้แล้วในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ เวลาเที่ยงตรง  ชื่อของพระเครื่องรุ่นนี้คือ "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ซึ่งมาจากนิมิตของหลวงพ่อทวดที่ผ่านมาทางท่านอาจารย์ทิมนั่นเอง. 
 
จากกันด้วยข้อคิด “เพื่อนแท้ จะพบได้ยามเมื่อเราลำบาก “  

 


 

 

เขียน:นายกองตรีอ้วน [email protected]