4 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับ 'ค่าไฟฟ้า'
จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในแต่ละปี มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดอย่างต่อเนื่อง นั่นก็เป็นเพราะทุกคนเห็นประโยชน์และความสำคัญของไฟฟ้า และทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันของเรา ที่ช่วยให้ชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ "ไฟฟ้า" กลายเป็นเชื้อเพลิงหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในระบบไฟฟ้าก็กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เอง-ผลิตเองที่มากขึ้นผ่านพฤติกรรมต่างๆ อย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และระบบผลิตไฟบนหลังคา (Solar Rooftop) เป็นต้น
ดังนั้น เรื่อง "ไฟฟ้า" จึงถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน แต่ละครอบครัวต้องจ่ายบิล "ค่าไฟ" เป็นประจำ ซึ่งวันนี้ผมจะขอนำเรื่องควรรู้ 4 เรื่อง มาเล่าสู่กันฟังครับ
1.องค์ประกอบของค่าไฟฟ้าประกอบด้วยอะไรบ้าง? : ค่าไฟที่เราจ่ายกันทุกเดือนประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า (ค่าไฟฐาน) ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ค่าบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าไฟฟ้าฐาน คิดจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรวมถึงค่าเชื้อเพลิงและการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบายต่างๆ (G) ค่าระบบส่งไฟฟ้า (T) ค่าระบบจำหน่ายไฟฟ้า (D) โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการพิจารณาโครงสร้างทุกๆ 3-5 ปี แต่ระหว่าง 3-5 ปีนี้ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจจะเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์ไว้ เช่น การขึ้น หรือลดราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับกรณีการซื้อไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เป็นต้น
- ดังนั้น จึงต้องมีค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (Ft) ซึ่งจะพิจารณาทุกๆ 4 เดือน โดยนำต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปมาบวก ลบกับค่าไฟฟ้าฐาน เพื่อปรับปรุงค่าไฟฟ้า ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนจริง เมื่อนำมาคำนวณรวมกับค่าบริการของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็จะเป็นค่าไฟฟ้า ตามที่เราเห็นในบิลค่าไฟฟ้า
2.ใครกันนะที่ทำหน้าที่กำกับสูตรค่าไฟ? : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของประเทศ ซึ่งจะกำกับสูตรค่าไฟให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้านั่นเอง
3.เชื้อเพลิงอะไรที่ประเทศไทยใช้เยอะที่สุดในการผลิตไฟฟ้า? : แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถใช้เชื้อเพลิงหลากหลายชนิดในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล แต่ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้มากที่สุด และใช้มากกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิด จะมีต้นทุนที่แตกต่างกันไป และเปลี่ยนแปลงไปตามราคาตลาดโลก แน่นอนว่า ยิ่งเชื้อเพลิงชนิดใดมีความผันผวนสูง จะยิ่งทำให้ค่าไฟฟ้าของเราปรับขึ้นลงมากตามไปด้วย
และ 4.ราคาค่าไฟเฉลี่ย ปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร? : สำหรับราคาค่าไฟฟ้าของไทยในครึ่งปีแรกของปี 2560 อยู่ที่ 3.44 บาท/หน่วย ปรับลดลงจากปลายปี 2559 ที่ 4 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการปรับลดราคาลงของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่เราใช้มากที่สุด ถึงแม้วันนี้ราคาก๊าซธรรมชาติอาจจะปรับราคาลดลง แต่การคาดการณ์ราคาและเลือกใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้สมดุลก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใด ชนิดหนึ่งมากจนเกินไป เวลาที่เชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้ประเทศของเราต้องแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น โดยทฤษฎีแล้ว "การกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกใช้เชื้อเพลิงหลากหลายชนิด" จะช่วยให้ประเทศไทยมีค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และลดภาระของผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ก็เพื่อความสุขของคนไทยทุกคนครับ