ผลวิจัย “ตลาดแรงงาน-การศึกษา”ไทยแลนด์ 4.0 ชี้ต้องปูพื้นฐาน “วิชาชีพ” เด็ก,เยาวชน

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบันฑิตย์ นำเสนอผลวิจัย “การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน” เผยข้อมูลตลาดแรงงานไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ-ปริญญาตรีล้นตลาด เหตุระบบการศึกษาไทยผลิตบุคลากรไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ชี้ต้องปูพื้นฐานทักษะวิชาชีพในเด็กนักเรียนทุกช่วงวัยเพื่อเตรียมกำลังคนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบัน คาด 5 ปีจะเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และพร้อมก้าวสู่ยุค 4.0 เต็มตัวได้ในปี 2575 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า
 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยข้อมูลจาก “การวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม” ภายใต้ “โครงการการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน” ว่าภาพรวมของตลาดแรงงานไทยในวันนี้มีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพที่หมายถึงผู้ที่จบทั้ง ปวช. ปวส. และ ม.6 ที่มีทักษะอาชีพพอที่จะไปทำงานได้ และเป็นกลุ่มที่จะมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน 4-5 ปีข้างหน้า เพราะแรงงานในกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นและสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ด้วยความรวดเร็ว โดยข้อมูล Human Capital Report 2016 ที่จัดทำโดย World Economic Forum พบว่าสัดส่วนของแรงงานฝีมือของประเทศ สวีเดน เยอรมณี สิงค์โปร และฟินแลนด์ นั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีสัดส่วนของแรงงานฝีมือเพียงร้อยละ 14.4 ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก
 

“หากนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาเป็นฐานจะพบว่าโครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้คือประเทศไทยจะต้องมีแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50  แต่ปัจจุบันกลับมีแรงงานกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 20  ในขณะที่ผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2559 มีผู้ว่างงานถึง 1.79 แสนคน และจากการสำรวจความต้องการจ้างงานของสถานประกอบการ พบว่ามีความต้องการแรงงานในด้านการผลิตหรือแรงงานทั่วไปมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41.084 ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการทักษะทางวิชาชีพมากนัก อันเป็นผลมากจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง

อีกด้านหนึ่งคือข้อจำกัดด้านคุณสมบัติของแรงงานที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตได้ ฉะนั้นการที่เราจะไปถึงเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ 3.0 ให้ได้ก่อน ซึ่งหลายๆ จังหวัดของไทยยังเป็นเศรษฐกิจในยุค 2.0 และมีไม่ถึง 15 จังหวัดที่กำลังก้าวขึ้นสู่ 3.0 เมื่อดูจากรายได้ต่อหัวของประชากรและเกณฑ์กำลังแรงงาน


ซึ่งยุค 3.0 นั้นจะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานในสายวิชาชีพ ถ้ายังผลิตคนมาป้อนไม่ได้ ก็จะกลายเป็นว่าจะมีบางจังหวัดที่พร้อมไปสู่ 4.0 แต่อีกหลายจังหวัดยังอยู่ที่ 2.0 หรือ 3.0 ก็จะยิ่งสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการผลิตคนในสายอาชีพนั้นไม่จำเป็นจะต้องผลิตผู้เรียนที่จบอาชีวะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ให้นักเรียนได้เรียนวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่เป็นวิชาเสริมในการเรียนได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เด็กมัธยมที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อสามารถหางานทำได้ และยังช่วยให้นักเรียนเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อีกด้วย”      
 

ดร.เกียรติอนันต์ ยังระบุอีกว่าวันนี้ภาคการศึกษาของไทยเริ่มขยับตัวบ้างแล้ว และคาดว่าคงจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีในการผลิตกำลังแรงงานวิชาชีพในกลุ่มนี้ออกมาให้ทันความความต้องการในการพัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการจะต้องร่วมกันฝึกทักษะวิชาชีพให้กับเด็กนักเรียน รวมไปถึงคนที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้นที่ออกไปทำงานแล้วในขณะนี้ให้มีทักษะวิชาชีพที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งหากสามารถสร้างแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะไปพร้อมกับพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบัน เชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปีก็จะเริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนที่ชัดเจน และมองเห็นเป้าหมายของการพัฒนากำลังคนเพื่อผลักดันประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือในปี 2575
 

นอกจากนี้ข้อสรุปที่ได้จาก “การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ” ในจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี สุรินทร์ อำนาจเจริญ นครราชสีมา ภูเก็ต ตราด แม่ฮ่องสอน และสุราษฎร์ธานี พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าการขาดแคลนทักษะแรงงานเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมทางทักษะอาชีพทั้งในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) และในสายอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่และทิศทางการพัฒนาของประเทศ




โดยมีแนวคิดในการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนในการทำงาน 4 ด้านคือ 1) การจัดการศึกษาด้านอาชีพควรตอบโจทย์แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่น โครงสร้างประชากรที่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2)จัดการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรและวิธีการที่เหมาะสม เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง  มีชั่วโมงปฏิบัติการภาคสนามกับสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานจริงและควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลโอกาสทางอาชีพต่างๆ และใช้ข้อมูลในการคิดวิเคราะห์วางแผนชีวิตซึ่งควรมีการปลูกฝังค่านิยมแก่ทั้งตัวนักเรียนและครอบครัวมาตั้งแต่ระดับมัธยมต้นเป็นอย่างน้อย
 

นอกจากนี้ 3)ภาคเอกชนและท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากหลักการใช้อุปสงค์ของตลาดแรงงานนำการจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะแหล่งงาน ได้แก่ องค์กรท้องถิ่น สถานประกอบการ กิจการภาคเอกชน หน่วยงานวิชาการฯลฯ  และสนับสนุน 4)การศึกษาเพื่อพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาว  เนื่องจากประเทศไทยจะมีการยกระดับทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องยกระดับฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกัน  ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เอกชนร่วมพัฒนาแรงงานที่เป็นลูกจ้าง  รวมถึงรัฐจัดระบบการศึกษา (เช่น วิทยาลัยชุมชน) รองรับผู้ที่ประสงค์จะกลับเข้าศึกษาต่อเมื่อพร้อมโดยเฉพาะในด้านทักษะอาชีพ
 

ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีด้านการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการดำเนินงาน “การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา” โดยพบข้อมูลที่น่าสนว่าในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาจะมีทักษะชีวิต มีอิสระทางความคิด มีเข้าใจในเรื่องของครอบครัว เรื่องของการใช้เงิน แต่ความเข้าใจตรงนี้จะเริ่มลดลงไปเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นกำลังสอนให้เด็กๆ มีรูปแบบและวิธีการคิดที่เหมือนๆ กัน ทำให้ได้รับคำตอบที่คล้ายกันเพราะกลัวว่าจะตอบถูกหรือผิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการศึกษาทำให้ความสนใจในเรื่องชีวิตหรือการงานอาชีพต่างๆ ถูกปั่นทอนหรือกดไว้ในกรอบที่ต้องท่องจำ เพราะข้อมูลที่ได้รับสะท้อนในเรื่องของความจำที่ทุกคนจะเหมือนกันทั้งหมด
 

“ระบบการศึกษาของเราใส่เนื้อหาในลักษณะของการท่องจำเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะเราไปสอนเขาให้เขาจำในเนื้อหาสาระ แต่ไม่ได้บอกว่าชีวิตจริงนั้นมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และถึงแม้ว่าเราจะมีการสอนในเรื่องของการงานอาชีพอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง แต่การจัดการเรียนการสอนนั้นยังเป็นไปแบบการขาดความเข้าใจที่แท้จริงในปลูกฝังทักษะวิชาชีพเข้าไป ทำให้ไม่สามารถสร้างให้เกิดการต่อยอดทางความคิดได้


ดังนั้นสิ่ง สสค. ซึ่งประกอบไปด้วย การวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงาน, การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ และการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้แต่ละจังหวัดได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร แล้วจะต้องมีโรงเรียนที่จะมาช่วยในการพัฒนาเด็กให้ตอบโจทย์พื้นที่ในเรื่องแรงงาน การพัฒนาแรงงานในพื้นที่ แล้วก็มีการสื่อสารภายในจังหวัด เมื่อผู้ปกครองรู้ เด็กรู้ มีตำแหน่งงาน มีงาน จบแล้วไม่ต้องไปไหนไกล การทำงานโดยใช้จังหวัดเป็นฐานแล้วก็กำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด ก็จะทำให้แต่ละจังหวัดก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชนได้”
 

ซึ่งแนวทางการทำงานดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ที่กล่าวถึงการทำงานโดยใช้พื้นที่หรือจังหวัดเป็นฐานว่า ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในแนวทาง “ประชารัฐโมเดล” ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในหลายจังหวัดที่มีตัวแทนภาคประชาชน ผู้ประกอบการ สถานศึกษา กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐมาช่วยกันคิดและหาทางออกในระดับพื้นที่ร่วมกัน
 

“สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในหลายๆ จังหวัดเป็นสัญญาณที่ดี เพราะถ้าหากเราสามารถขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ในโมเดลประชารัฐได้จริง ต่อไปการทำงานในเชิงพื้นที่จะง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ทำวิจัยขึ้นมานั้นจะทำให้จังหวัดได้รู้จักตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่ สสค. ลงไปดูแล ข้อมูลเหล่านี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด ที่ไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ทำทั้งในบริบทด้านตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของพื้นที่เป็นตัวตั้ง ผลที่ได้จึงสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของจังหวัด และก็จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดดีกว่าการทำแผนการศึกษาแบบลอยๆ” ดร.เกียรติอนันต์ระบุ
 

อนึ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มในการจ้างงานในระดับจังหวัด ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 40,000 แห่ง พบ 5 บทเรียนสำคัญที่เกิดประโยชน์แก่จังหวัดในการพัฒนากำลังคน ดังนี้ 1) คณะทำงานจังหวัดมีข้อมูลในการวางแผนการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เห็นภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจบริบทและความต้องการแรงงานในจังหวัดตนเอง 2) สามารถจัดการศึกษาให้สอดคล้องที่เข้ากับทิศทางจังหวัดได้มากขึ้น เช่น เชียงใหม่เดิมการท่องเที่ยวถูกตั้งให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แต่เมื่อสำรวจต้นทุนในอนาคตจะพบว่า ภาคเกษตรกรรมและการบริการทางสุขภาพ กลับเป็นต้นทุนสำคัญในอนาคต 3) จังหวัดมีเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านอาชีพกับครู ผู้ปกครอง และเด็กเยาวชน 4) บุคลากรในพื้นที่มีทักษะในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างการจ้างงานได้เองในทุกปี จังหวัดจึงสามารถดึงข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาจังหวัด และพัฒนาคนที่ล้อไปกับยุทธศาสตร์จังหวัดได้ และ 5) เกิดโมเดลการศึกษาประชารัฐที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมองการเชื่อมโยงบูรณาการข้ามหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนประชารัฐ