เกษตรกรบ้านโป่งลึก บางกลอย ขายทุเรียนออนไลน์



เกษตรกรและชาวบ้านโป่งลึก บางกลอย จังหวัดเพชรบุรีปรับตัวจากโควิด19 ด้วยการเปิดขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ชูทุเรียนนำร่องค่อยขยายไปสินค้าอื่น มั่นใจขายได้เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพ

นางจินดารัตน์ คำเวียง เกษตรกรบ้านโป่งลึก กล่าวว่า จากกรณีการเกิดสถานการณ์โควิด 19 ทำให้กลุ่มชาวสวนทุเรียนและชาวบ้านโป่งลึก บางกลอยคาดว่าอาจเกิดผลกระทบกับการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนในปีนี้ ทางกลุ่มได้มีการพูดคุยกัน ร่วมวางแผนหาช่องทางจัดจำหน่าย โดยสรุปเป็นการเปิดจองทางออนไลน์ ก่อนผลผลิตจะออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มว่ามีตลาด จำหน่ายสินค้าได้แน่นอน

สำหรับการเปิดขายทุเรียนออนไลน์ เพราะมีความมั่นใจว่าทุเรียนโป่งลึกมีชื่อเสียง มีรสชาติดี มีการผลิตที่มีคุณภาพ มั่นใจขายได้แน่นอน โดยเปิดให้สั่งจองและจำหน่ายทางเฟซบุ๊กชื่อ “สวนทุเรียนโป่งลึก บางกลอย” ปีนี้ทางกลุ่มได้ตั้งราคาขายไว้กิโลกรัมละ 150 บาท สามารถส่งได้ทั่วประเทศ ปัจจุบันในพื้นที่มีผู้ปลูกทุเรียนทั้งหมด 40 ราย จำนวนทุเรียน 3,058 ต้น มีทุเรียนที่ให้ผลแล้ว จำนวน 469 ต้น จาก 18 ราย

นางจินดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ทุเรียนโป่งลึกเป็นที่รู้จัก ก็เพราะสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาแนะนำเรื่องการปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพเช่นการบำรุงต้น ตัดแต่งกิ่ง กำจัดโรคและแมลง สนับสนุนในเรื่องระบบน้ำและช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้คนเป็นที่รู้จัก จากเมื่อก่อนเคยขายทุเรียนแบบเหมาให้พ่อค้าคนกลางไปขาย จึงได้เรียนรู้ พัฒนาปรับการขายมาเรื่อยๆ คิดว่าการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ขายทุเรียนได้ดีขึ้นและเป็นการป้องกันเรื่องสินค้าล้นตลาด

“นอกจากทุเรียนแล้ว ชาวบ้านยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ได้เริ่มขายออนไลน์แล้ว เช่นกาแฟ กล้วยตาก ย่าม เสื้อผ้าพื้นเมือง เป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนและให้คนรู้จักบ้านโป่งลึกกันมากขึ้น”

บ้านโป่งลึก บางกลอย เป็นพื้นที่ต้นแบบของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 184 ครัวเรือน ให้สามารถมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง โดยเริ่มงานพัฒนาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว เป็นต้น

จากการสำรวจรายได้ด้านภาคเกษตร ปศุสัตว์และท่องเที่ยวของชาวบ้านโป่งลึก บางกลอย ในปี 2562 พบว่ามีรายได้รวมกว่า 10.6 ล้านบาท รายได้เฉพาะภาคเกษตร 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่าชาวบ้านมีรายได้รวม 3,603,725 บาท เทียบกับ 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 รายได้รวม 1,580,805 บาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ