“โนนคูณ”หมู่บ้านนี้เอาอยู่! สู้โควิดด้วยธนาคารอาหาร

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเชื้อร้ายครั้งนี้ได้ เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ระดับชุมชนหลายแห่งประกาศปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกกักตุนอาหารลุกลามเป็นวงกว้าง จนบางอย่างขาดตลาด

 อย่างไรก็ตามมีชุมชนหนึ่งที่ดูจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มากนัก นั่นคือ บ้านโนนคูณ ต.โนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่มีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง สามารถอยู่รอดในวิกฤตนี้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากที่อื่น

 จุดเริ่มต้นของการมีแหล่งอาหารเป็นตัวเองของชาวบ้านโนนคูณ เริ่มจากการส่งเสริมให้ชาวชุมชนปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน

  สัญญา ใจกล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคูณ เล่าว่า แม้ชาวบ้านจะมีอาชีพการทำเกษตรปลูกอ้อย และมีการปลูกผักไว้กินเองบ้าง แต่ก็มีการใช้สารเคมีทั้งสิ้น เช่น ยาฆ่าแมลง บางอย่างที่ต้องไปซื้อจากตลาดก็ไม่รู้ว่าจะปลอดสารเคมีหรือเปล่า เขาจึงอยากให้ชาวบ้านลองมาปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อสุขภาพที่ดีต่อร่างกาย โดยขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้กับครัวเรือนที่สนใจเกือบ 50 ครัวเรือน ใครชอบกินอะไรก็ให้ปลูกอันนั้น ที่สำคัญคือต้องไม่ใช้สารเคมี ทำให้ทุกครัวเรือนมีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน ขณะเดียวกันยังมี 3-4 ครัวเรือนที่สามารถต่อยอดสร้างอาชีพด้วยการปลูกผักขาย กระจายผลผลิตกับคนในชุมชนได้บริโภคตลอดทั้งปี

 

 ขณะเดียวกันยังมีเครือข่ายกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองแวง บ้านหนองลุมพุก และบ้านหนองไฮ ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มคนที่สนใจจะปลูกผักอย่างจริงจัง ทำให้ ต.โนนสะอาด มีแหล่งอาหารปลอดภัยเพื่อบริโภคอย่างเพียงพอทั้งตำบลเหนือไปกว่านั้นชาวบ้านโนนคุณยังมี กองบุญข้าวเปลือก ไว้ให้ชาวบ้านได้หยิบยืมไปหุงหารับประทานที่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านโนนคูณ เล่าด้วยว่า กองทุนข้าวเปลือก เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อ พ.ศ.2528 ต้องการให้ชาวบ้านได้มีข้าวกินในยามลำบากขัดสน หรือหากเกิดวิกฤตภัยแล้งนาข้าวให้ผลผลิตไม่เพียงพอ ก็จะมีข้าวจากกองบุญตรงนี้ไปบรรเทาความเดือดร้อน  โดยขอรับบริจาคข้าวเปลือกจากชาวบ้านมาเก็บไว้ยุ้งฉาง ชาวบ้านสามารถมาขอยืมข้าวไปรับประทานได้ปีละ 1 ครั้งต่อครัวเรือน พอครบปีก็ให้นำข้าวมาคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราข้าว คือ ดอกเบี้ย 1 กก.ต่อข้าวที่ยืม 10 กก. ถ้าไม่มีข้าวมาคืนสามารถจ่ายเป็นเงินได้ ซึ่งคณะกรรมการก็จะนำไปซื้อข้าวกลับมาคืนกองบุญเช่นกัน

  นอกจากกองบุญข้าวเปลือกที่มีข้าวในสต๊อกมากถึง 7 ตันแล้ว ในชุมชนบ้านโนนคูณ ยังมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เมื่อรวมกับผักปลอดสารเคมีที่สามารถผลิตผักราว 1 ตันต่อรอบการผลิต หรือประมาณ 3-4 เดือน ทั้งหมดนี้จึงเป็นแหล่งอาหาร “ธนาคารอาหาร” สำหรับชาวบ้านโนนคุณทั้ง 441 คน 79 ครัวเรือน ที่แบ่งปันและสามารถพึ่งพาตนเองได้ใน

  “ถ้าเราหันมาปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา อย่างจริงจัง และขยายครัวเรือนให้เพิ่มมากขึ้น มันไม่ใช่เพียงแค่ช่วยประหยัดในครัวเรือน ยังมีเรื่องของสุขภาพที่ได้จากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยอีกด้วย  โดยเราไม่ต้องไปพึ่งพาข้างนอกมากมาย อย่างเช่นวิกฤตไวรัสโคโรน่าที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งหลายแห่งประกาศปิดหมู่บ้านไป ถ้าเรามีของกินอยู่ภายในชุมชนเราก็ไม่จำเป็นต้องออกไปเราก็อยู่รอดได้” ผญบ.โนนคูณ เชื่ออย่างนั้น

นอกจากจะมีแหล่งอาหารไว้บริโภคยามลำบากเช่นนี้ หมู่บ้านโนนคูณ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันไวรัสโคโรน่าอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกฎระเบียบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

ขณะที่ ลัดดาวัลย์ ศรีวิบูลย์ รองประธาน อสม. กล่าวถึงมาตรการรับมือว่า อย่างแรก คือ ไม่ให้คนหมู่มากอยู่รวมกัน ร้านค้า ร้านอาหารสามารถเปิดขายได้ แต่ต้องเอากลับไปกินที่บ้าน ห้ามนั่งกินที่ร้าน มีการออกตรวจเยี่ยมชาวบ้าน ดูแลกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะคนที่เข้า-ออก มีการบริจาคเงินเพื่อจัดหาอุปกรณ์ให้กับ อสม. และคณะกรรมการหมู่บ้าน เช่น หน้ากากผ้า หรือการทำน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งหากประเมินว่าการระบาดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ก็จะยกระดับป้องกันความปลอดภัยในหมู่บ้านขั้นสูงสุดต่อไป

 ในช่วงทุกข์ยาก ภาวะวิกฤติเมืองและสังคม อาหารเป็นสิ่งสำคัญแต่ทุกครั้งก็จะเกิดภาวะอาหารขาดแคลนทุกครั้งไป จะดีกว่าหรือไม่หากคนและชุมชนสามารถผลิตและมีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง

 ดังเช่น บ้านโนนคูณ ต.โนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่หันมาพึ่งพาตนเอง สร้างแหล่งอาหารภายในชุมชนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งภายนอก และพร้อมที่จับมือกันผลิตอาหารให้เพียงพอ ต่อสู้กับภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ครั้งนี้ ซึ่งไม่อาจคาดเดาว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่