ม.มหิดล รุกปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ วิกฤต COVID-19



รัฐธรรมนูญมาตรา 47 กล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยถือเป็น "หน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องจัดให้ประชาชน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิด

ความคาดหวังที่กลายเป็นการคุกคาม จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องปฏิบัติงานภายใต้ความกดดัน และความเสี่ยงจากการติดเชื้อในการที่ต้องตรวจคัดกรอง ดูแลรักษาผู้ป่วย เสียขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงาน

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาด รวมทั้งให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ว่าคนรวยหรือคนจนก็ควรจะได้รับการปกป้องรักษาสิทธิดังกล่าว ทว่าในขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์กำลังทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีศักยภาพในการรักษาสิทธิของผู้ป่วยได้เพียงในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

จากการบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ท่านหนึ่งเปิดเผยว่า ในการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องได้รับการทำ swab หรือเก็บสารคัดหลังจากด้านหลังตรงจมูก และลำคอไปตรวจหาเชื้อ นอกเหนือไปจากการดูว่ามีไข้ หรือการเอกซเรย์ปอด ซึ่งทำได้ยากมาก เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญในการเก็บตัวอย่าง และเสี่ยงต่อผู้ทำการตรวจซึ่งมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อไปด้วย 

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช กล่าวต่อไปว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามจะสื่อสารให้ความรู้ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างของสังคม ไม่ว่าจะเป็นพวกแรงงานรายวัน ไปจนถึงคนไร้บ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ฉุกเฉินนี้เป็นลำดับแรกๆ โดยอาจจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องการติดเชื้อ แต่หมายถึงการดำรงชีวิตโดยทั่วไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เราพยายามสื่อสารกับสังคม และผู้ที่มีอำนาจว่าควรจะปกป้องผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคมมากที่สุดก่อน

นอกจากนี้ การเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ในเวลานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ณ เวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เราควรจะเป็นกำลังใจให้กันและกันพยายามรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี แล้วก็ให้อยู่ในบ้านของตัวเอง งดการมีปฏิสัมพันธ์กันในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง

"ในขณะที่เรารู้สึกปลอดภัยที่บ้าน อย่าลืมว่ายังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักและมีความเสี่ยงสูงเพื่อพวกเรา ตลอดจนอาชีพที่ถ้าเกิดหยุดทำงานขึ้นมา สังคมก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถโดยสาร  พนักงานเก็บขยะ แม่บ้าน คนกวาดถนน ฯลฯจึงอยากขอให้ร่วมเป็นกำลังใจ เพื่อเราจะได้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน" ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช กล่าวทิ้งท้าย