การลงทุนในยุคเปลี่ยนผ่าน


ปกติแล้วในช่วงสิ้นปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องมองไปข้างหน้าเพื่อการลงทุน และก็เป็นปกติที่ข้าพเจ้าจะไม่เคยทำนายดัชนีหุ้นไทย เพราะว่าทำนายไปก็ขี้เกียจมาแก้ตัวภายหลัง เนื่องจากในระยะสั้นนั้นดัชนีตลาดหุ้นมิได้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐาน แต่จะถูกผลักดันด้วยอารมณ์ของผู้ลงทุนมากกว่า และข้าพเจ้ามิได้โฟกัสการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น 

ดังนั้น จึงต้องมอง Megatrends เป็นหลักใหญ่ไว้ก่อน เพื่อให้เรามองเห็นภาพข้างหน้าในระยะยาวๆ 5 ปีขึ้นไป
.

Megatrends
—————-
·     สังคมทั่วโลก เกิดน้อย แก่นาน

·     เทคโนโลยีใหม่ส่งผลต่อกระบวนการผลิต การจ้างงาน และการดำเนินชีวิต

·     กระแสเรียกร้องด้านความยั่งยืน

·     Urbanization

·     กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ทุนนิยม และนโยบายตัวใครตัวมัน
 
เมื่อพิจารณา Megatrends แล้ว ก็จะพอได้ภาพว่า Sector ไหนจะได้ประโยชน์ Sector ไหนจะเสียประโยชน์ถ้าปรับเปลี่ยนไม่ทัน ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงเพราะมีหลายท่านวิเคราะห์เอาไว้แล้ว แต่อยากโฟกัสภาพรวมในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า
.

Short-Term Negative Factors (1-2 ปี)
———————————————-
·     สงครามการค้า สหรัฐฯ จีน
 
·     ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน
 
·     เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงไปเรื่อยๆ ทั้งจากเทคโนโลยีใหม่ที่แม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง + และ -  แต่การ “เกิดน้อย แก่นาน” ก็ทำให้กำลังแรงงานลดลง คนแก่บริโภคน้อยลงและไม่ค่อยสร้างผลผลิตใหม่ ในขณะที่คนหนุ่มสาวยังมีหนี้สูง ทำให้ส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภค
 
·     ความกดดันจากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ ปีนี้ ปีหน้า ที่ลดลงไปเรื่อยๆ
 
·     นโยบายการเงินโลกจะคงดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถขึ้นได้ มีแต่จะลง เพราะ ...

-            เงินเฟ้อจะต่ำยาวนาน เนื่องจาก Demand ทั่วโลกตกต่ำ
 
-            หนี้ทั่วโลกสูงขึ้น จะขึ้นดอกเบี้ยก็กระทบภาระทางการเงินของครัวเรือนและหนี้ภาครัฐ
 
-            ตลาดการเงินโลกเสพติดสภาพคล่องไปแล้ว เมื่อทางการประเทศไหนๆ ทำท่าจะถอนสภาพคล่อง ตลาดการเงินจะปั่นป่วน ทำให้ธนาคารกลางที่ถูกกดดันโดยรัฐบาลจะไม่กล้าถอนสภาพคล่อง
 
·     เมื่อนโยบายการเงินหมดกระสุนก็ต้องพึ่งนโยบายการคลังมากขึ้น โดย ...
 
-         รัฐจะใช้จ่ายมากขึ้น จะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยี เกิดขึ้น ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่ผลตอบแทนพันธบัตรจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก เพราะคนยังต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล
 
-         นโยบาย Quick Win อย่าง ชิม ช็อป ใช้ หรือรูปแบบอื่นจะเกิดขึ้นอีก เพื่อใช้หล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ
 
-         คาดว่าผลที่ตามมาจากสองเรื่องนี้คือ “ภาษี” ในรูปแบบต่างๆ น่าจะเพิ่มขึ้น
.

Short-Term Positive Factors (1-2 ปี)
———————————————
·     สภาพคล่องยังล้นโลก
 
·     ธนาคารกลางต่างๆ ยังมีทีท่าที่จะอุ้มเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและ Abnormal ด้วยอัตราดอกเบี่ยต่ำและติดลบ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องแบบ QE หรือภายใต้ชื่ออื่น
 
·     เมื่อดอกเบี้ยต่ำ สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจึงอาจได้รับอานิสงส์ แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่คงเป็นช่วงสั้นๆ เพราะยังต้องปรับตัวจาก Megatrend ที่กล่าวถึงในตอนต้น
 .

สรุปผลสำหรับปี 2563
—————————
ภาวะอย่างนี้คือเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ค้าขายกันน้อย สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาถูก กับผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน เป็นผลมาหลายปัจจัยโดยเฉพาะ “เกิดน้อย แก่นาน” ที่จะทำให้ทั้งความต้องการจับจ่ายใช้สอย และกำลังแรงงาน กำลังซื้อ ลดลง
 
นี่คือ New normal ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน จนกลายเป็น Normal เพราะนโยบายการเงินทั่วโลกที่ Abnormal  
 
ที่สำคัญคือ โลกจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ จากนโยบายการเงินที่จะกลับมาอัดฉีดขนานใหญ่ จนนำไปสู่การเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง นำมาซึ่งภาวะฟองสบู่แตก และทำให้ผู้คนทั่วโลกมองว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า” กันมากขึ้นทุกที
.

คำถามก็คือ แล้วนี่คือ End Cycle ? จะเป็น Bear Market ในปีนี้หรือไม่ ? … แล้วจะลงทุนอย่างไร
.
 
End Cycle … Bear Market ?
———————————


ข้อมูลจาก Tisco Research ...
 
·     ตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี เพราะลดลงจากจุดสูงสุดไม่ถึง 20% จะเป็นหมีได้ดัชนีต้องลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด 
 
·     โอกาสที่จะเกิดภาวะตลาดหมีตัวใหญ่ ต้องเกิดวิกฤตทั่วโลก หรือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
 
·     วัฎจักรตลาดกระทิงและหมีของสหรัฐ (S&P500) ในรอบ 70 ปี มี Bull 8 ครั้ง Bear 7 ครั้ง โดย Bull กินเวลาเฉลี่ยรอบละ 91 เดือน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 227% Bear กินเวลาเฉลี่ยรอบละ 16 เดือน ดัชนีลดลงเฉลี่ย 36%
 
·     ระยะเวลาในขาลงน้อยกว่าขาขึ้นมาก โดยรอบล่าสุดตลาดกระทิงกินเวลามาแล้ว 112 เดือน ขึ้นมา 270%  มีการขึ้นมาในอดีตที่ใหญ่กว่านี้ 2 ครั้ง คือ หลังสงครามโลก และหลังเหตุการณ์ black Monday
 
·     วัฎจักรตลาดหุ้นไทยในรอบ 30 ปีเกิดถี่มาก Bull 12 ครั้ง Bear 11 ครั้ง โดย Bull ยาวนานเฉลี่ยรอบละ 23 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ย 114% ส่วน Bear กินเวลาเฉลี่ยรอบละ 9 เดือน ลดลงเฉลี่ย 41%  รอบล่าสุดเกิดนานแล้ว 53 เดือน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 25% โดยภาวะตลาดกระทิงของไทยลูกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
 
·     สรุปคือตามสถิตินี้ ถ้าตลาดหุ้นจะเป็น End Cycle จนถึงขนาดเกิด Bear Market ก็จะไม่ยาวนาน 
.

แล้วจะลงทุนอย่างไร
————————
ผลสำรวจ UBS เรื่องมุมมองการลงทุนของกลุ่มมหาเศรษฐีทั่วโลก 56% ตอบว่าให้บาลานซ์พอร์ตการลงทุน ไม่เน้นไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
 
กลุ่มมหาเศรษฐีในเอเชียจะเน้นการรักษาเงินต้นเป็นหลักถึง 23% ในขณะที่สหรัฐฯ จะเน้นพอร์ตการลงทุนที่เติบโตถึง 31%
 
สัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ของมหาเศรษฐีทั่วโลกโดยเฉลี่ย ....
 
-         เงินสดหรือเทียบเท่า 8%
 
-         ตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว 12% … ตราสารหนี้ประเทศกำลังพัฒนา 4%
 
-         หุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว 25% … หุ้นในประเทศกำลังพัฒนา 7%
 
-         ลงทุนตรงในPrivate Equity 11% ... ผ่านกองทุน 8%
 
-         อสังหาริมทรัพย์ 17%
 
-         Hedge Fund 5%
 
-         อื่นๆ 3%

ถ้าความเสี่ยงเริ่มเพิ่มมากขึ้น กลุ่มมหาเศรษฐีจะย้ายสินทรัพย์ไปยังที่ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ เงินสด ฯลฯ แต่จะนำเงินส่วนหนึ่งพักไว้ เผื่อได้สินทรัพย์ราคาดีในช่วงตลาดพัง
.

สรุปคำแนะนำ
——————
โลกผ่านช่วงการเปลี่ยนผ่าน การปฏิวัติอุตสาหกรรม และวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้ง แต่บริษัทดีๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ปรับตัวเป็น ก็ผ่านช่วงเหล่านั้นมาได้
 
การลงทุนหุ้นยาวๆ 5 ปี 10 ปี ขึ้นไป และการลงทุนสม่ำเสมอ ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยดีกว่าลงทุนสั้น แต่ต้องแสวงหากิจการทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ปรับตัวให้รองรับ Megatrends ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยมีแนวคิดและทำธุรกิจที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืนหรือ ESG (Environment, Social Responsibility, Governance) และรู้จักหาข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ากับขยายเครือข่ายการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
 
การกระจายลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภทและหลายพื้นที่ให้หมาะสมกับตัวเราแต่ละคน เป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาส ภาวะที่ผันผวนเลือกหุ้นที่มีรายได้สม่ำเสมอ หุ้นมีปันผล และเมื่อหุ้นลงควรปรับพอร์ตการลงทุนตัวเองอาจเพิ่มหุ้น แต่สิ่งที่ไม่ลืมคือกอดเงินสดไว้ในมือเสมอเพื่อรอคว้าโอกาสที่ไม่ทันตั้งตัว เพราะการมี cash ไว้ส่วนหนึ่งสำคัญมากในภาวะข้างหน้า เพราะถ้ามีจังหวะซื้อเวลาหุ้นดีๆ มีราคาตกต่ำลงมามากๆ หรือเวลามีอะไรมาช็อคตลาดจาก sentiment ... คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่มีเงินสดในมือ
.

ทุกการเคลื่อนไหวของหุ้นมีทั้ง วิกฤตและโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับแนวทางเลือกของตัวเองว่าจะเป็นแบบไหน
 
นอกจากนี้ การเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตกงาน ขาดรายได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ คือควรขยายเงินสำรองฉุกเฉินให้เพิ่มมากกว่าเดิม เช่นเคยกันเงินสำรองไว้ให้พอกับรายจ่าย 6 เดือน ก็พยายามเพิ่ม 1 เท่าให้เป็น 12 เดือน เป็นต้น
 
และควรจะมีทองคำไว้บ้างในพอร์ตลงทุน
.

วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด

14 มกราคม 2563

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ