ถาวร เปิดสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน โครงการท่าอากาศยานนครปฐม

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) “โครงการท่าอากาศยานนครปฐม”
 
 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) “โครงการท่าอากาศยานนครปฐม” ในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมการสัมมนา
 นายถาวร เสนเนียม กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการสายการบิน และปริมาณอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งแบบประจำและไม่ประจำในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรทางอากาศและสถานที่จอดอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองมีความแออัด อีกทั้งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ผู้โดยสารและแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองพบว่า ไม่สามารถรอบรับการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในอนาคต 

 

 กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้สำรวจออกแบบรายละเอียด ประมาณราคาก่อสร้าง ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุน การจัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งท่าอากาศยานนครปฐม เพื่อศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้าง โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ เศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวพบว่า ท่าอากาศยานแห่งใหม่ควรตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้แก่ อำเภอบางเลน (ตำบลบางระกำ ตำบลลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ตำบลบางแก้วฟ้า ตำบลบางพระ ตำบลวัดละมุด) จังหวัดนครปฐม

 

ซึ่งห่างจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลกเมตร และใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที จากการออกแบบโครงการฯ จะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขาก 45 x 2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 หลัง พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถยนต์จอดได้ประมาณ 4,200 คัน สำหรับรูปแบบการลงทุนกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐม จำนวน 3 แนวทางได้แก่




 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 5 มีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี 
 2. รัฐลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดอากาศยาน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดอากาศยานทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 50 มีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี 
 3. รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยานพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดอากาศยานเชิงธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 52 มีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี 


 ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องนำเสนอหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณลงทุนต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรายงานผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมประมาณกลางปี 2563 โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 30,000 ล้านบาท