"หอยแครงหายไปไหน....ไขคำตอบด้วยงานวิจัยเพื่อชุมชน"



ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน หรือ อ่าว ก.ไก่ ถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นฐานการผลิตอาหารทะเลให้กับคนไทย สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลอ่าวไทยตอนบน นอกจากการหาสัตว์น้ำตามธรรมชาติแล้วยังมีสัตว์ทะเลหลายชนิดเช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยนางรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายพันล้านบาท แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอ่าว ก.ไก่กำลังจะหมดไป จากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างนิคมอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำเสียไหลลงอ่าว รวมทั้งปัญหาการทำลายระบบนิเวศป่าชายเลน สัตว์น้ำขาดแหล่งพักพิงในช่วงวัยอ่อน ส่งผลให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและกลุ่มประมงพื้นบ้านประสบปัญหาการขาดทุนและรายได้ไม่มั่นคง

หอยแครงคลองโคน ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2555 มวลน้ำจากภาคเหนือ และภาคกลางถูกระบายจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลมายังแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นน้ำเสีย ผลที่ตามมาคือเกิดแพลงตอนบูมทั้งทะเล ผลกระทบดังกล่าวทำให้หอยแครงคลองโคนที่เคยเกิดขึ้นเองธรรมชาติเกิดโรคระบาดตายยกฟาร์ม เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์หอยนอกพื้นที่มาเพาะเลี้ยง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของ “โครงการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดและการป้องกันการตายหมู่(ยกฟาร์ม) ของหอยแครงตำบลคลองโคนโดยมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ การจัดการฟาร์ม และโรคที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เลี้ยงหอยแครงโดยการมี   ส่วนร่วมของชุมชน

จากรายงานสถิติผลผลิตการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง พบว่า ในปี พ.ศ. 2551-2553 มีปริมาณผลผลิตระหว่าง 4,017-5,065 ตัน แต่ในปี พ.ศ. 2554-2555 พบว่าปริมาณผลผลิตหอยแครงลดลงเหลือเพียง 2,613-2,518 ตัน (สถิติการประมงแห่งประเทศไทย, 2557) โดยปริมาณการลดลงของหอยแครงบริเวณตําบลคลองโคน มีสาเหตุมาจากการตายระหว่างการเลี้ยงจํานวนมาก เนื่องจากคุณภาพน้ำและดินบริเวณแหล่งเลี้ยงหอยแครง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหอยแครง ทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล ประกอบด้วย สารอาหารในน้ำและดิน เช่น แอมโมเนีย ไนเตรท และปัจจัยคุณภาพน้ำพื้นฐาน เช่น ปริมาณสารแขวนลอยในน้ำ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ อุณหภูมิ ค่าพีเอช เป็นต้น

นายวรเดช เขียวเจริญ แกนนำนักวิจัยชุมชนคลองโคน กล่าวว่า หอยแครงสามารถนำมาเป็นดัชนีชี้วัดการรักษาระบบนิเวศที่ดีของลำคลองได้เป็นอย่างดี เพราะหอยแครงจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่สะอาด โดยเฉพาะที่ชุมชนคลองโคน แต่เดิมที่นี่มีหอยแครงเกิดเองตามธรรมชาติเยอะ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากกว่าหอยแครงจากพื้นที่อื่น เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ชายทะเลบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่งอกชายฝั่งทะเลเกิดจากการทับถมของดินตะกอนในแผ่นดินเป็นแหล่งสะสมตะกอนของดินเลนที่มีสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้หอยแครงคลองโคนมีรสชาติกลมกล่อม ตัวใหญ่เปลือกบาง เนื้อเหนียวนุ่ม แต่เมื่อพื้นที่แหล่งเลี้ยงหอยถูกน้ำจืดที่ไหลมาจากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงลำคลองสาขาไหลลงมาสู่ทะเลในปริมาณมาก จึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของหอยแครง และยังทำให้เกิดโรคในหอยแครง 

“การเลี้ยงหอยต้องใช้เวลาปีกว่าจึงจะได้ขนาด เกษตรกรต้องมีความอดทนกว่าจะเก็บหอยขาย ส่วนราคาหอยขึ้นอยู่กับขนาด มีทั้งขนาด 150 ตัว, 120 ตัว เช่น หอยขนาด 100 ตัว/กิโลกรัม มีราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 140 บาท  หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา เราถือเป็นผู้ส่งออกหอย แต่ปัจจุบันเราต้องนำเข้าหอยจากอินเดีย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องประสบกับภาวะขาดทุน เพราะหอยที่นำเข้ามาไม่ได้คุณภาพและตาย เพราะ“น้ำ”ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงหอย ขณะที่ปัจจุบันหอยที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติมีน้อยลง เราจึงต้องมาหาสาเหตุอะไรคือปัจจัยเบื้องต้นของการเกิดของหอย จึงคาดหวังว่างานวิจัยจะช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้” 

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกสว. กล่าวว่า จากวิกฤติดังกล่าว จึงได้นำกระบวนการวิจัยท้องถิ่นและกระบวนการทางวิชาการหาสาเหตุของปรากฏการณ์หอยตายยกฟาร์มเพราะปัญหาเรื่องหอยแครงนี้ ใช้ความรู้ของชาวบ้านอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงได้ประสานนักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เข้ามาทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยชุมชน

ด้านดร.ไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า โดยทั่วไปน้ำเสียไม่ได้ ทำให้หอยตายโดยตรง แต่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อของหอย ทำให้หอยเกิดโรค พอหอยอ่อนแอจึงเป็นสาเหตุให้หอยตาย  แต่การค้นหาสาเหตุของการตายยกฟาร์มของหอยแครงคลองโคนนี้ จะต้องนำหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยหาคำตอบ โดยกระบวนการวิจัยเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบน้ำและดิน วิธีการเก็บตัวอย่าง และช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเก็บตัวอย่าง เพื่อหาค่าความเค็มของน้ำและตรวจสารปนเปื้อนในดิน กระบวนการดังกล่าวใช้ระยะเวลาถึง 15 เดือนในการเก็บตัวอย่างจาก 12 สถานี แบ่งเป็น ตัวแทนผู้เลี้ยงหอยแครงในบ่อเลี้ยง , แหล่งรับและระบายน้ำจากพื้นตะกอนดิน , แหล่งเลี้ยงหอยแครงในแนวทะเล นอกจากนี้ยังมีการเจาะเลือดหอยแครงเพื่อตรวจหาปริมาณปรสิตภายนอกโดยการตรวจดูด้วยกล่องจุลทัศน์ และศึกษาปรสิตในเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ โดยเทคนิคเนื้อเยื่อวิทยา พร้อมทั้งแนะนำให้มีติดตั้งระบบดักไขมัน และระบบบำบัดน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะในชุมชน

ผลการตรวจสอบพบว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเลี้ยงและการตายของหอยแครงโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิรอบวันที่แตกต่างกัน ปริมาณตะกอนสารแขวนลอยในน้ำทะเล และปริมาณ ไนโตรเจนสูง ส่วนปัจจัยคุณภาพดินที่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงหอยแครง คือ ดินมีการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณมาก ส่งผลให้หอยแครงอ่อนแอ และตายเป็นจำนวนมาก

นายวรเดช ยอมรับว่า จากเดิมที่เคยคิดว่าสาเหตุหลักการตายหมู่ของหอยแครงคลองโคน เกิดจากโรงงานและฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยู่ด้านบนปล่อยน้ำเสียลงมาสะสมจมทับลงในดินเลนอยู่บริเวณปากอ่าวตัว ก. ทำให้หน้าดินเสียรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบทำให้หอยแครงตาย

“ คำตอบที่ได้จากการงานวิจัย ไม่ใช่แค่ทำให้รู้ว่าต้นเหตุของหอยแครงที่หายไป แต่สิ่งที่ได้คือ เรื่องของการร่วมมือที่ทำให้ชาวบ้านได้มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รู้จักตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว จากเดิมที่เคยโทษแต่ปัญหาไกลตัวว่า เป็นต้นเหตุทำให้หอยแครงตาย แต่เมื่องานวิจัยเข้ามา ชวนทำเวทีถอดบทเรียน ทำประวัติศาสตร์ชุมชน ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวรอบชุมชนของตนเองก็มีส่วนทำให้หอยแครงตายด้วยเช่นกัน”

สิ่งที่ตามมาทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัวและหันมาร่วมมือกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนกันเอง โดยในส่วนของภาคเอกชนผู้ให้บริการ อาทิ ร้านอาหาร ที่พักรีสอร์ต ต่างก็ให้ความร่วมมือในการติดตั้งเครื่องดักไขมัน และเครื่องบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงสู่คูคลอง เพื่อเป็นการจัดการระบบนิเวศของตนเองอีกทางหนึ่ง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองโคนก็ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินโครงการและกำหนดกฎกติกากับทางร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งกรมชลประทานที่เข้ามาให้ความร่วมมือในการปล่อยน้ำเพื่อช่วยเจือจางสารอินทรีย์ที่ปะปนในน้ำซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหอยแครง และจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้หอยแครงคลองโคนได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว  

 “ ปัจจุบันหอยแครงจากที่เคยหายไปจากแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชนนานกว่า 8 ปี ภายหลังมีการขับเคลื่อนงานวิจัยทำให้พบว่ามีหอยแครงเริ่มเกิดขึ้นตามธรรมชาติในแหล่งน้ำชุมชนอีกครั้ง ถือเป็นดัชนีชี้วัดให้เห็นระบบนิเวศของชุมชนคลองโคนและพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้น กระแสน้ำโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิม ผลพวงจากการจัดการเรื่องน้ำส่งผลให้สัตว์น้ำอย่าง ปลาและกุ้งเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะธรรมชาติดี ออกซิเจนดีกุ้งเข้าฝั่ง คนทำกุ้งก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”

ล่าสุด หลังจากโครงการวิจัยโครงการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดและการป้องกันการตายหมู่(ยกฟาร์ม) ของหอยแครงตำบลคลองโคนโดยมีส่วนร่วมของชุมชนเสร็จสิ้นลง เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนคลองโคนอย่างเห็นได้ชัด มีการบริหารจัดการน้ำ และระบบนิเวศคูคลอง เกิดการกระตุ้นให้หน่วยงานในพื้นที่มีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีการเก็บข้อมูลและจดบันทึกตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างดิน และปฏิทินผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงหอยแครงและสามารถตั้งรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที ทำให้เกิดแนวคิดในการสานต่อโครงการระยะที่ 2 ขึ้นในโครงการการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน กรณีศึกษา : กลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง และสัตว์น้ำอื่นๆ และชาวประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ คลองโคน จังหวดสมุทรสงคราม บางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี และบ้านน้ำเชี่ยวและอ่าวมะขาม จังหวัดตราด เพื่อสร้างนวัตกรรมและทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตกรผู้เลี้ยงหอยแครง โดยต่อยอดองค์ความรู้จากโครงการแรกสู่ช่องทางในการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย อาชีพเพาะพันธุ์หอยแครง , อาชีพเพาะแพลงตอนเพื่อเป็นอาหารของหอยแครง , อาชีพเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิด และอาชีพขนส่งหอยแครงหรือโลจิสจติกส์  ถือเป็นการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงและชุมชนอื่นๆต่อไปในอนาคต