พรีเมียร์ลีก : ผู้ประกอบกิจการสตรีมมิ่งโดยผิดกฎหมาย ต้องชดใช้เงินกว่า 25 ล้านบาท



ผู้ประกอบกิจการสตรีมมิ่งโดยผิดกฎหมาย ต้องชดใช้เงินกว่า 25 ล้านบาท นับเป็นหนึ่งในการชดใช้สำหรับความผิดเกี่ยวเนื่องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย และถูกพิพากษาให้รอลงอาญาในโทษจำคุกรวม 3 ปีครึ่ง

 

จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและชาวไทย ได้ให้การรับสารภาพในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีกในประเทศไทยและจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายรวม 15 ล้านบาท และยังมีเงินของกลางอีกกว่า 7 ล้านบาทที่ถูกริบให้ตกเป็นของรัฐ ทั้งยังถูกพิพากษาให้รับโทษปรับเป็นเงินอีกกว่า 3 ล้านบาท ส่วนโทษจำคุกรวม 3 ปีครึ่งในส่วนของความผิดที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโดยผิดกฎหมายให้รอลงอาญา โดยยอดเงินในการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 15 ล้านบาทนี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งในยอดการชดเชยค่าเสียหายที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์

 

จำเลยในคดีนี้ได้ให้การรับสารภาพในความผิดหลายฐานที่สืบเนื่องมาจากการจัดหาให้บริการการเผยแพร่งานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการประกอบกิจการเครือข่ายที่ละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ทั่วทวีปเอเชีย คดีนี้มีการเริ่มพบการกระทำความผิดที่ฮ่องกงและมีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเรื่อยมาจนพบว่ามีฐานการประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย โดยได้สืบพบเว็บไซต์หลายเว็บไซต์ภายใต้ชื่อหลัก Expat.tv และโดเมนอื่นๆ ในเครือข่ายเดียวกันที่ถูกบริหารจัดการจากในกรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงการสตรีมมิ่งการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกโดยผิดกฎหมายนี้ได้จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย นอกจากนี้ กลุ่มผู้กระทำความผิดยังมีการขายกล่องอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการสตรีมมิ่งโดยผิดกฎหมายด้วย ซึ่งกล่องอุปกรณ์นี้จะมีแอปพลิเคชันติดตั้งมาให้ในกล่องเพื่อใช้เผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

ชายชาวอังกฤษ 2 คนถูกจับกุมในระหว่างการบุกจับโดยเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ส่วนหญิงชาวไทยถูกจับกุมตัวในภายหลัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการตรวจค้นใหญ่ในครั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากทางพรีเมียร์ลีก หนึ่งในชายชาวอังกฤษที่ถูกจับกุมได้หนีประกัน โดยขณะนี้มีการออกหมายจับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาอื่นอีกหลายราย

อัยการได้ส่งฟ้องจำเลยต่อศาลเป็นคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ การดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมาย

 

เควิน พลัมบ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า “มูลค่าเงินชดเชยค่าเสียหายของคดีนี้ถือเป็นการชดใช้ค่าเสียหายสูงที่สุดคดีหนึ่งในประเทศไทย  ที่สำคัญยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบสตรีมรายการของพรีเมียร์ลีกโดยผิดกฎหมายอีกด้วย

“ในเอเชีย ทัศนคติและการให้การยอมรับต่อการประกอบกิจการเช่นนี้กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งนับเป็นเรื่องดีสำหรับแฟนบอลพรีเมียร์ลีกที่รับชมผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย ผู้ที่รับชมรายการละเมิดลิขสิทธิ์ควรตระหนักว่าการใช้บริการสตรีมมิ่งที่ดำเนินการโดยแก๊งอาชญากรรมประเภทนี้มีความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาการรับชมที่อาจถูกระงับไปจากการเข้าควบคุมตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากถูกฉ้อโกงและมัลแวร์ต่างๆ ด้วย

“เรามีความตั้งมั่นในการดำเนินการต่อผู้ที่ให้บริการการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ของเราโดยผิดกฎหมาย และรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่ศาลและอัยการเห็นความสำคัญและสนับสนุนการต่อสู้การละเมิดลิขสิทธิ์นี้ ขอขอบคุณกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ของประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ที่ให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดี รวมถึงพนักงานอัยการที่ดำเนินคดีในเรื่องนี้ต่อศาล”

 

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อดิจิทัล เนื่องจากสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศอย่างมหาศาล”

“สำหรับคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเป็นคดีพิเศษเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากนั้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ 5 แห่ง พร้อมจับกุมผู้ต้องหาเป็นคนสัญชาติอังกฤษ 2 คน และคนไทย 1 คน ส่งดำเนินคดี จนกระทั่งสอบสวนเสร็จสิ้นได้ส่งตัวให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลจนมีคำพิพากษาตัดสิน ในปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนสอบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีการใช้ประเทศไทยเป็นฐานและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ซับซ้อนเป็นเครื่องมือกระทำผิดอีกหลายคดี”

 

นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่อาชญากรรมที่ไม่มีผลกระทบ กิจการเหล่านี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศเป็นอย่างมาก ผู้ใช้ยังเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสปายแวร์และมัลแวร์ต่างๆ อีกด้วย คนไทยมีความสามารถและมีศักยภาพในการยกระดับสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และแข่งขันในระดับโลก แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จริงจัง ในวาระนี้เราขอขอบคุณกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เรายินดีให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกของอังกฤษและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนเพื่อต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ และมุ่งหวังที่จะสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และประเทศไทยต่อไป”

 

พรีเมียร์ลีกมีแผนงานการปกป้องลิขสิทธิ์อย่างครอบคลุมและจะสืบหาและดำเนินการกับผู้ให้บริการการสตรีมงานโดยผิดกฎหมายต่อไป พรีเมียร์ลีกมีสำนักงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนพันธมิตรที่ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดรายการอย่างถูกกฎหมายและปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์