ถาวร นำทีมถกความร่วมมือทางศก.ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation Program:  (GMS) ของไทย นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (23nd GMS Ministerial Conference) ณ โรงแรมโซฟิเทล โพฆีธรา พนมเปญ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา   
รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา

โดยสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (Council of Development of Cambodia: CDC) เป็นเจ้าภาพการประชุม ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2562 ภายใต้หัวข้อหลัก

“เพื่อการบูรณาการที่ขยายเพิ่ม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค GMS” (Greater Integration, Inclusivity and Sustainability in the GMS) โดยมี นายซก เจนดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับ นายอาเหม็ด เอ็ม ซาอิอ รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออก-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และผู้แทนจากประเทศสมาชิก ได้แก่ นางสาวเจิ้ง ลี่หัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นาย ออง ทู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายวู ไต๋ ธาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมฯ

นอกจากการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน GMS ยังมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหุ้นส่วนการพัฒนาต่าง ๆ ภาคเอกชน (สภาธุรกิจ GMS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมประชุมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2573 (GMS Long-Term Strategic Framework 2030) กรอบการประเมินผล และแผนงานวิจัยสนับสนุน ซึ่งให้ความสำคัญกับการร่างทิศทางการดำเนินงานในระยะยาวหลังปี 2565 ของแผนงาน GMS เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทาย

2. รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบรายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 2 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (RIF2022: 2nd Progress Report and Update)

3. รัฐมนตรี GMS รับทราบยุทธศาสตร์สาขาความร่วมมือด้านสุขภาพปี 2562-2566 ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิก GMS ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว


4. รัฐมนตรี GMS ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของหุ้นส่วนการพัฒนาใน GMS และความร่วมมือของภาคเอกชน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการร่วมพัฒนาโครงการภายใต้กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565

5. รัฐมนตรี GMS ตระหนักถึงความสำคัญด้านการปรับปรุงกลไกการดำเนินงาน โดยสนับสนุนการเจรจาหารือเรื่องการจัดตั้งสำนักงานประสานการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค (RPCC) และการจัดตั้งสำนักงานประสานงานการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MTCO) ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ และมีที่ตั้ง ณ กรุงเทพมหานคร ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

6. รัฐมนตรี GMS รับทราบกำหนดการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) กำหนดจัดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

7. รัฐมนตรีรับทราบการประชุมเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 (ECF-11) โดยประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุมฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 แผนงาน GMS และ กำหนดจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2563
ทั้งนี้ สศช. และหน่วยงานประสานหลักในสาขาความร่วมมือทั้ง 10 สาขา จะได้ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ด้วยแล้ว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามหลักการ“3Cs” ซึ่งยึดถือเป็นแนวทางการพัฒนาของแผนงาน GMS ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2535

นอกจากนี้ รัฐมนตรี GMS รับทราบความสำเร็จล่าสุดของแผนงานในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาคมนาคม มุ่งพัฒนาการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ระบบราง ศูนย์โลจิสติกส์ และการพัฒนาท่าเรือ สาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้าและคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการดำเนินการใน "ระยะแรกเริ่ม" ของความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) และการร่วมลงนามระหว่างเมียนมาและไทยในบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) บริเวณแม่สอด-เมียวดี รวมถึงพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามความตกลง CBTA ในระยะที่ 2 เพื่อนำไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบของความตกลงต่อไป