มทร.รัตนโกสินทร์ ยกระดับห่วงโซ่อุปทาน ว่านหางจระเข้ประจวบฯ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมทุนหนุน มทร.รัตนโกสินทร์ ลุยพื้นที่ประจวบฯ ปูพรมยกระดับวิสาหกิจชุมชน”ว่านหางจระเข้” กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ธเนศวร นวลใย อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์) วิทยาเขตวังไกลกังวล หัวหน้าชุดโครงการการวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทสปาจากทรัพยากรพื้นถิ่นด้วยกลไกการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่มีโครงสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการร่วมทุนกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ (สกสว.) เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกว่านหางจระเข้มากที่สุดในประเทศ (ราว 1 หมื่นไร่) ซึ่งเมื่อคิดหักลบต้นทุนจากราคาที่ขายให้โรงงานได้กิโลกรัมละ 2 บาท เกษตรกรผู้ปลูกว่านหางจระเข้จะได้กำไรเพียง 1.50 บาทต่อกิโลกรัม จึงต้องการยกระดับรายได้ของเกษตรกรและผู้แปรรูป โดยใช้จุดเด่นของของเนื้อว่านหางจระเข้ ที่เป็นทั้งสารให้ความชุ่มชื่น และต้านทานเชื้อก่อโรค  มาเจาะตลาดเครื่องสำอางและตลาดผลิตภัณฑ์สปา และเพื่อให้ผลลัพธ์จากงานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง 

งานวิจัยชุดนี้จึงเป็นการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปว่านหางจระเข้ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม  3 แห่งคือ วิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย, วิสาหกิจชุมชน Aloe vera ไร่แม่มะลิ กุยบุรี และวิสาหกิจชุมชน WOODS HERB TANAKA  ซึ่งมีการนำว่านหางจระเข้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกายอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากผู้เชี่ยวชาญไปส่งเสริมให้ชาวบ้านนำวัตถุดิบภายในประเทศมาใช้มากขึ้น    ซึ่งภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยและนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เดิมที่มีการผลิตอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ให้กับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 แห่ง

“นักวิจัยทำการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของว่านหางจระเข้ในระยะต่างๆ สำหรับการแบ่งเกรด เพื่อใช้เป็นมาตรฐานส่วนผสมในเครื่องสำอาง อีกทั้งยังเข้าไปวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าเดิมของว่าหางจระเข้ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าในการใช้ประโยชน์ของว่านหางจระเข้ โดยเน้นวัตถุดิบที่ปลอดภัยสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกว่านหางจระเข้แบบอินทรีย์ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ในการทำเครื่องสำอางได้อย่าง ซึ่งมั่นใจข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยนี้ก็คือ นวัตกรรมในการผลิตสารตั้งต้นจากเนื้อว่านหางจระเข้ที่ไม่ซับซ้อน และมีต้นทุนต่ำ ที่สำคัญคือได้สารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ทำให้ผิวเกิดการหมองคล้ำไม่แตกต่างจากวิธีการสกัดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  

อีกทั้งมีการจัดเกรดว่านหางจระเข้พบว่าว่านหางจระเข้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการสกัดเป็นส่วนผสมสำหรับเครื่องสำอางคือว่านหางจระเข้ระยะที่ 3 อายุ (7-9 เดือน) เนื่องจากมีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังร่วมกับวิสาหกิจชุมชนออกแบบแพ็กเกจและฉลากให้สามารถสื่อสารจุดเด่นของผลิตภัณฑ์และแหล่งปลูก รวมถึงงานวิจัยด้านการตลาดออนไลน์ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายซึ่งได้แก่ผู้สนใจในสุขภาพผิวที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งจากเดิมที่เกษตรกรจำหน่ายว่านหางจระเข้ให้กับโรงงานแปรรูปได้กิโลกรัมละ 2 บาท หากเกษตรกรสามารถผลิตว่านหางจระเข้แบบอินทรีย์ เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเครื่องสำอางหรือผลิตภัณพ์เพื่อผิวพรรณในอุตสากรรมสปาแล้ว มูลค่าก็อาจเพิ่มสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาทเลยทีเดียว”

 ด้านดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ. ภารกิจธรรมาภิบาลงบประมาณกลุ่มภารกิจบริหารระบบงบประมาณ สกสว. ในฐานะหน่วยงานร่วมทุน กล่าวว่า แม้ว่า OTOP จะเป็น  Growth Engine สำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่ เพราะเชื่อมโยงกับทรัพยากรในพื้นถิ่นจริง ๆ  แต่จากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสินค้าโอทอปทั่วประเทศในแต่ละปีมากกว่า 2 แสนล้านนั้น (อาจถึง 4 แสนล้าน)  กลับไปถึงมือผู้ผลิตต้นน้ำน้อยมาก ซึ่งสกสว.เคยมีงานวิจัยที่ศึกษาห่วงโซ่มูลค่าของพืชเศรษฐกิจ 7 ประเภท พบว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์  100 บาท กลับไปถึงมือเกษตรกรหรือผู้ผลิตต้นน้ำเพียง  2 บาทเท่านั้น  ซึ่งนั่นเป็นที่มาของชุดโครงการวิจัยOTOP เพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ หรือสร้าง New Supply Chain ที่จะทำให้นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้นแล้ว  รายได้ที่เกิดขึ้นจะต้องลงมาถึงมือของเกษตกรรผู้ผลิตอย่างเป็นธรรมด้วย  ซึ่งสิ่งที่ มทร.รัตนโกสินทร์ กำลังทำวิจัย ได้ทำให้ภาพนี้เริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว