สคร. เร่งติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจใกล้ชิด คาดปี 62 เบิกจ่ายเกินร้อยละ 80



นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา สคร. ได้มีการเร่งติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดประชุมร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อหารือแนวทางในการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามแผน และผลักดันให้รัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพพิจารณาเร่งการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 และสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย โดยภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มีผลการเบิกจ่ายสะสม จำนวน 199,887 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนเบิกจ่ายสะสม และคาดว่าในปี 2562 รัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 80 ของกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งปี

ผลการเบิกจ่ายสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562

หน่วย: ล้านบาท

รัฐวิสาหกิจ

แผนเบิกจ่ายสะสม

เบิกจ่ายจริง

สะสม

ร้อยละเบิกจ่ายจริงสะสม/แผนเบิกจ่ายสะสม

ปีงบประมาณ (ต.ค. 61 – ก.ย. 62)

จำนวน 34 แห่ง

164,976

104,024

63%

ปีปฏิทิน (ม.ค. 62 – ธ.ค. 62)

จำนวน 11 แห่ง

95,995

95,864

100%

รวม 45 แห่ง

260,971

199,887

77%

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายสะสมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 12 เดือน (เดือนตุลาคม 2561 – เดือนกันยายน 2562) ซึ่งสิ้นสุดปีงบประมาณ 2562 แล้ว จำนวน 34 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 104,024 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของกรอบลงทุนของปีงบประมาณ และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 9 เดือน (เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2562) จำนวน 11 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 95,864 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม

 

ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562

        หน่วย : ล้านบาท

ชื่อรัฐวิสาหกิจ

แผนเบิกจ่ายสะสม

ผลการเบิกจ่ายสะสม

ร้อยละเบิกจ่าย/

แผนเบิกจ่ายสะสม

1.   ปีงบประมาณ จำนวน 34 แห่ง (รวม)

164,976

104,024

63%

     1.1 การรถไฟแห่งประเทศไทย

76,184

33,460

44%

     1.2 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

28,472

28,471

100%

     1.3 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

17,912

13,202

74%

     1.4 การประปาส่วนภูมิภาค

13,000

7,761

60%

     1.5 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

6,203

1,639

26%

     1.6 การเคหะแห่งชาติ

4,677

3,985

85%

     1.7 การประปานครหลวง

4,500

4,500

100%

     1.8 องค์การเภสัชกรรม

2,034

1,451

71%

     1.9 การท่าเรือแห่งประเทศไทย

2,010

1,937

96%

     1.10 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

1,986

1,918

97%

     1.11 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

1,250

1,186

95%

     1.12 รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ จำนวน 23 แห่ง

6,748

4,514

67%

2.   ปีปฏิทิน จำนวน 11 แห่ง (รวม)

95,955

95,864

100%

     2.1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

18,095

17,850

99%

     2.2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

32,794

35,673

109%

     2.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

22,547

20,585

91%

     2.4 การไฟฟ้านครหลวง

10,253

12,166

119%

     2.5 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

4,263

2,767

65%

     2.6 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

2,393

2,915

122%

     2.7 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

2,480

891

36%

     2.8 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

2,137

2,040

95%

    2.9 รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ จำนวน 3 แห่ง

1,032

976

95%

รวม 45 แห่ง

260,971

199,887

77%

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

 

โครงการที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1 – 2) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แผนระยะยาวธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และแผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสีย (ปี 2561 - 2564) ของการประปานครหลวง สำหรับโครงการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งทำให้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญในปี 2562 ทั้งนี้ หากไม่รวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของ รฟท. และ กทพ. การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะเท่ากับร้อยละ 92 ของแผน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สคร. จึงมีการติดตามและทำงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจอย่างเข้มข้นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้การเบิกจ่ายในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562 รวมถึงในช่วงต้นปี 2563 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยไม่เกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ