ครม.รับทราบแผนการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งปี 2562/63

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงการเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.เสนอ โดยคาดว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่พื้นที่ภัยแล้งของปี 2562/63 ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ 

พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่ให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค 56 อำเภอ ใน 22 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด 32 อำเภอ ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร บุรีรัมย์ ภาคตะวันออก 1 จังหวัดคือชลบุรี และภาคใต้ 4 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี 

ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคได้เตรียมมาตรการรับมือแล้ว อาทิ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมวางท่อเพื่อเข้าสู่ระบบผลิต เจาะบ่อบาดาล ฯลฯ ขณะที่พื้นที่นอกเขตบริการ ซึ่งอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 38 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด กลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคตะวันตก 2 จังหวัด

สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร แบ่งเป็น ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ซึ่งจากการประเมินสภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า มี 25 แห่ง คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ได้แก่ อ่างฯมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูก 5 แห่ง อาทิ กระเสียว ทับเสลา อุบลรัตน์ ลำนางรอง และจุฬาภรณ์ ปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง 9 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ แม่กวงฯ แม่มอก มูลบน ลำพระเพลิง คลองสียัด ปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรนาข้าวรอบที่ 2 บางพื้นที่ 9 แห่ง ส่วนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ฤดูแล้ง 2562/63 โดยกรมทรัพยากรน้ำ พบ 20 จังหวัด 109 ตำบล ประกอบด้วย เหนือ 9 จังหวัด 84 ตำบล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 16 ตำบล ภาคกลาง 2 จังหวัด 7 ตำบล ภาคตะวันตก 1 จังหวัด 2 ตำบล 

ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบข้อมูลปริมาณน้ำที่สามารถจัดสรรได้เพื่อนำไปใช้วางแผนการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งปี 2562/63 และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อช่วยเกษตรกรโดยเร่งด่วนแล้ว