นายกฯมอบนโยบายเร่งสร้างคนกลุ่มคนดิจิทัล



ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อาคารลาดพร้าวฮิลล์ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมภารกิจสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมมอบนโยบายด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน ผ่านการพัฒนา “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์”และ “ดิจิทัล สตาร์ทอัพ” ดึงดูดนักลงทุน ควบคู่กับการเร่งยกระดับกำลังคนในสาขาที่ตรงตามความต้องการของตลาด รองรับการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาค โดยมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คณะผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ            โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมแบบจำลองและรับฟังบรรยายสรุปข้อมูล Thailand Digital Valley พร้อมเยี่ยมชมแบบจำลอง World Expo ซึ่งในปีนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพและไปร่วมจัดงานที่ประเทศดูไบในปี พ.ศ. 2563        จากนั้น นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือในหัวข้อแนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่ ASEAN Digital Hub และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและ Thailand Digital Valley  โดยสั่งการให้ดีป้าเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐสำคัญอย่าง “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” พื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และขยายตลาดในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนก้าวสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมขอบคุณและกล่าวชื่นชมการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของดี้ป้าซึ่งสามารถพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลและร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพมีมูลค่าทางตลาดถึง 7,000 ล้านบาท           ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดีป้าดำเนินงานและขับเคลื่อนไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ต่อไปในการเป็นแหล่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น หรือ ดิจิทัล สตาร์ทอัพ สัญชาติไทยใน 6 สาขา ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการภาครัฐ(GovTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) ก่อนทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Large Tech Company) จากต่างประเทศ ทั้งด้านไอที การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซอฟท์แวร์ คอนเวอร์เจนซ์ ฮาร์ดแวร์ ฯลฯ ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Product – Service Innovation Design)           พร้อมทั้งให้เร่งยกระดับศักยภาพกำลังคน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะสาขาดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotic) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงให้มีการนำนักศึกษาของสถาบันต่าง ๆ และคนรุ่นใหม่ในประเทศมาศึกษาดูงาน เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รองรับการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าและเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคในอนาคต              ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมภารกิจของดีป้าในด้านต่าง ๆ จุดให้บริการดิจิทัลครบวงจร (Digital One Stop Service – DOSS) ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน สมาร์ทวีซ่า และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลโมเดลไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์นิทรรศการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และสัมผัสนวัตกรรมล้ำสมัยจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัลชั้นนำของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตควรมีการควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้า และสินค้าต้องมีมาตรฐานคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ รวมทั้งพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการจัดทำแผนโครงการอย่างเป็นระบบ มีการทำการตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสินค้ามีความหลากหลาย จำหน่ายในราคาที่เหมาะสมหรือปานกลางแต่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ปัญหาที่อยากให้แก้ไขตอนนี้คือปัญหาแรงงานภาคการเกษตร โดยโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและเอกชน โดยฝากคนรุ่นใหม่ให้ดูแลคนรุ่นเก่า และสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อระหว่างเก่ากับใหม่ พร้อมขอให้ดี้ป้าและทุกคนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยรัฐบาลจะช่วยขับเคลื่อนด้วย           นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพบปะเหล่าดิจิทัล สตาร์ทอัพ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และชมการแสดงผลงานของดิจิทัล สตาร์ทอัพ โดยนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ ด้วยความสนใจ เช่น การใช้โดรนมาใช้ทางการเกษตร ผลงาน EdTech ซึ่งเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และการเขียนโค๊ตดิ้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปสนใจศึกษาเรียนรู้           นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการพัฒนาประเทศว่า การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการนำมาขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ทั้งการบริหารราชการ โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการหนี้ บัตรเครดิต การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ฯลฯ พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกัน โดยทุกคนต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็มีการปรับตัวเช่นกัน ขณะเดียวกันการดำเนินการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย พร้อมมอบให้ดี้ปารวบรวมข้อมูลผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานรัฐได้นำผลงานและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปใช้แทนการนำเข้าหรือซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถลดการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีรับข้อเสนอต่าง ๆ ของดิจิทัล สตาร์ทอัพ ไปพิจารณาดำเนินการ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม การสนับสนุนให้สตาร์ทอัพจดทะเบียนในประเทศแทนการไปจดที่ต่างประเทศ ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาสตาร์ทอัพและการลงทุนในประเทศ การสนับสนุนโดรนและเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ทางการเกษตร ให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีปริมาณตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น