อนุทิน เปิดตัวโครงการรับยาใกล้บ้าน นโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะ เปิดตัวโครงการรับยาใกล้บ้าน ตามนโยบายการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพร้อมแล้วทั้งในส่วนโรงพยาบาลและร้านยา เพื่อเป็นทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สมัครใจ ไม่ต้องรอคิวรับยา โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการคงที่ สามารถร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน และจะมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน ขณะนี้มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดและกทม.ที่ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการแล้ว 35 แห่ง และร้านยากว่า 300 แห่ง จะดำเนินการให้ครบ 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา ในปีงบประมาณ 2563 

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการจะดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อน ยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาในระยะแรกจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาล เป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย สิ่งสำคัญของโครงการนี้คือการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยในการส่งข้อมูล โดยโรงพยาบาลจะจัดส่งเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยให้กับร้านยาเพื่อให้จ่ายยาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ และจะมีการประเมินสุขภาพและความพึงพอใจหลังดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงด้านบริการของโรงพยาบาล เช่น มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมคุณภาพยาในหอผู้ป่วย เป็นต้น  

 “ผู้ป่วยที่สนใจสามารถสอบถามโรงพยาบาล ซึ่งจะมีรายชื่อร้านยา ข.ย.1 ให้เลือกตามความสะดวก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช.1330”  นายอนุทินกล่าว

 สำหรับ ร้าน save drug center บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ เครือข่ายรับยาของโรงพยาบาลราชวิถีสำหรับผู้ป่วย 4 โรคในเขตหลักสี่ จำนวน 3,000 คน จากทั้งหมด 10,000 คน ยังมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ในพื้นที่ กทม.
ที่เข้าร่วมโครงการอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตราชธานี ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่ร่วมโครงการ จะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนมกราคม 2563