สสส. จัดงาน Crative Citizen Talk 2019 ปลุกแรงบันดาลใจสู่สังคม



ในโลกยุคดิจิทัล ทุกประเทศทั่วโลกมุ่งสู่การสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ ด้วยเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี การเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ฯลฯ ทว่าในอีกมุมเล็กๆ ของการพัฒนา พลเมืองสร้างสรรค์ ยังสามารถใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีๆ ในสังคมได้อย่างหลากหลายมิติ รวมถึงมิติด้านสุขภาวะทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา

            เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม (Creative Citizen) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มองเห็นถึงความสำคัญและพลังของนักสื่อสารสร้างสรรค์  จึงได้ จัดงาน Creative Citizen Talk 2019 ขึ้น  ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดต่อเนื่อง ป็นครั้งที่ 6 โดยภายในงานก็ได้เชิญนักคิด นักสร้างสรรค์ นักสื่อสารสุขภาวะจากหลากหลายสาขาหลากหลายวงการอาชีพกว่า 10 ท่าน มาร่วมกันจุดประกายความคิดสร้างแรงบันดาลใจในแง่มุมต่างๆ ให้กับคนในสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย  ศ. ดร. ภญ. จงจิตร อังคทะวานิช (ผู้ที่ได้มองเห็นถึงปัญหาสุขภาพของสงฆ์ไทยในอาหารก้นบาตร เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโปรเจคสงฆ์ไทยไกลโรค) , จิระศักดิ์ รุ่งเรืองธัญญา (Creative Volunteer) พลเมืองธรรมดาที่มีหัวใจจิตอาสา ผู้ทำให้งานประจำ กีฬาที่รัก และงานเพื่อสังคมสามารถทำไปด้วยกันได้ , อาริยะ คำภิโล (เจ้าของกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพชื่อดัง Jones' Salad ที่ตั้งเป้ากำไรสูงสุดคือการสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่คนในสังคม ผู้สร้างคอนเทนต์ให้คน(กลับมา)รักสุขภาพจนเป็นเพจที่มียอดผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งล้านคน)  , รวิศ หาญอุตสาหะ นักธุรกิจจากแบรนด์ศรีจันทร์ (Srichand) ที่ตารางเวลาชีวิตแน่นเอียดตลอดทั้งสัปดาห์ จนทำให้ทั้งสุขภาพกายและจิตรวนทั้งขบวนแต่ก็ลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตัวเองด้วยการออกวิ่งได้สำเร็จ , ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพสายแฟชั่น ผู้เชื่อมงานศิลปะกับปัญหาสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยกัน ผ่านมุมมองภาพถ่ายแนวจัดจ้านที่ไม่เหมือนใคร จนถูกเรียกว่า “นวัตกรรมภาพถ่าย” ที่สั่นสะเทือนวงการช่างภาพและสร้างปรากฏการณ์ทางสังคม  ,  กัมปนาท พนัสนาชี  แรปเปอร์รุ่นใหม่ขวัญใจวัยรุ่น (36Man Rapper)ที่ถ่ายทอดเรื่องราวโรคซึมเศร้าให้แก่สังคม ใช้เพลงแรปเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับคนรอบข้าง

 ,  บุญชัย สุขสุริยะโยธิน นักคิดจากบริษัทตัวแทนโฆษณา (ชูใจ กะ กัลยาณมิตร) , ธีตา โหตระกิตย์  (เจ้าของร้าน Steps With Theera) ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กพิเศษเปลี่ยนโรงเรียนร้านอาหารและคาเฟ่ให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะและสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเพื่อสื่อสารความสามารถที่ไม่ธรรมดาของเด็กพิเศษสู่สังคมวงกว้าง  , ประสาน อิงคนันท์ ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังสารคดีและสื่อสาระดีๆ มากว่า

 

สิบปี มนุษย์วัยกลางคนที่ใช้สื่อออนไลน์มาทลายกำแพงช่องว่างระหว่างวัย ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ลูกหลานกับผู้สูงวัยในครอบครัวและสังคม , ชีวัน วิสาสะ ต้นฉบับนิทานเด็กสุดคลาสสิก “อีเล้งเค้งโค้ง”    ผู้สร้างโลกแห่งจินตนาการผ่านเนื้อหาประเด็นสุขภาพ-สังคม ความงามทางภาษา และภาพประกอบเชิงคุณค่าปลูกฝังเมล็ดพันธุ์การอ่านและจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็กๆ เพื่อส่งต่อไปถึงผู้ใหญ่

 

สำหรับงานครั้งนี้ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม Creative Citizen หัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรม กล่าวว่า “งานนี้เราได้จัดมาเป็นครั้งที่ 6 แล้ว  ซึ่งที่ผ่านมาในปีก่อนๆ แต่ละครั้งกิจกรรมของเราได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากว่าห้องประชุมที่จัดกิจกรรมเต็มทุกที่นั่ง  และ ที่น่าดีใจไปกว่านั้นคลิปที่เราทำและเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้รับชม ตอนนี้ยอดวิวทะลุกว่า 2 แสนคน  ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก   ซึ่งก็ต้องขอบคุณไปยัง สสส. ที่ให้การสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างดีเสมอมา  กิจกรรมดีๆ แบบนี้จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนในปีนี้    โดยในปีนี้ เนื้อหาของเราก็จะเน้นเรื่องสุขภาวะเป็นหลัก เพราะอยากให้ผู้ที่ได้เข้ามาร่วมรับฟังได้นำแนวคิดจากประสบการณ์ดีๆ ของผู้บรรยาย  ที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้  และเราก็ยังหวังไปไกลกว่านั้นว่า บุคคลที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ได้ฟังบรรยาย ในโอกาสข้างหน้าจะมาร่วมเป็นเครือข่ายจิตอาสานักสื่อสร้างสรรค์สังคมเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลง สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมร่วมกับเราครับ”

และในส่วนของเนื้อหาการบรรยายของทั้ง10 ท่านนั้น  ท่านแรก “ศ. ดร. ภญ. จงจิตร อังคทะวานิช”  ได้กระตุกความคิดของผู้ฟังถึงประเด็นการใส่บาตรพระสงฆ์ไว้ว่า “ทุกวันที่เราใส่บาตร เราอธิษฐาน อยากให้เราสุขภาพแข็งแรง แต่อาหารที่เราถวายพระ มันดีต่อสุขภาพพระหรือเปล่า”

 จากนั้น คุณจิระศักดิ์ รุ่งเรืองธัญญา ผู้ที่โหมงานหนัก ใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง จนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง กระทั่งร่างกายทรุดหนักป่วยด้วยหลายโรคหลายอาการ  จึงได้หันมาดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจัง และงด

พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคทั้งหลายได้ในเวลาไม่นาน ได้ให้แง่คิดดีๆ ว่า  "อย่าให้ใครมาบอกว่าเราคนเดียวทำไม่ได้หรอก ไม่มีใครมากำหนดได้ว่า เราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะเราตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าเราจะทำมันหรือไม่"

นอกจากนี้ อาริยะ คำภิโล  เจ้าของ Jones' Salad ได้เล่าประสบการณ์ของการทำธุรกิจที่เริ่มจากศูนย์และขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก จนกระทั่งประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้   เล่าว่า   "เหนือสิ่งอื่นใด กำไรที่เป็นเม็ดเงินหรือกำไรทางธุรกิจ ก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับสิ่งที่เราได้ทำแล้วเราได้กำไรทางใจ คือได้ทำคอนเทนต์ดีๆ ให้กับสังคม"

และในส่วนของ นักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์  รวิศ หาญอุตสาหะ  ผู้ที่ใช้การวิ่งสร้างแรงบันดาลใจในชีวิต  กล่าวว่า   "เวลาของคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับเข็มนาฬิกาของคุณ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีพลังทำ 1 เข็มนาฬิกาของคุณที่ผ่านไปได้แค่ไหนมากกว่า"

อีกทั้งยังมีช่างภาพชื่อดัง ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ที่ใช้ภาพถ่ายในการทำงานเพื่อสังคม ให้แง่คิดดีๆ ว่า "ภาพถ่ายสามารถทำอะไรได้มากมาย อาจเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่นได้ หรืออาจสร้างภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ให้คนอื่นรู้สึกดีก็ได้ ภาพถ่ายสุดท้ายในมือถือของคุณเป็นภาพอะไรครับ"  

และใครจะเชื่อว่าแรปเปอร์เลือดใหม่ กัมปนาท พนัสนาชี  ที่ให้ความบันเทิงกับทุกคนจะมีน้องสาวแท้ๆ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผ่านการฆ่าตัวตายมานับครั้งไม่ถ้วน ได้มาบอกเล่าประสบการณ์เรื่องราวในครอบครัวเพื่อเป็นอุทาหรณ์  กล่าวว่า  "ไม่มีใครอยากป่วย ไม่ว่าโรคซึมเศร้าหรือแค่ไข้หวัดธรรมดา ในเมื่อไม่มีใครอยากป่วย จงอย่ามองว่าการป่วยของคนที่เรารักเป็นภาระ"

 และต่อด้วยเรื่องราวของการใช้งานโฆษณา กระตุ้นจิตสำนึกของคนในสังคม  บุญชัย สุขสุริยะโยธิน   ให้แง่คิดว่า   "เราจำเป็นต้องรู้จริงๆ ไหมว่าอะไรคือความคิดสร้างสรรค์ หรือจริงๆ แล้วมันก็อยู่กับเราตลอดเวลา ในตอนที่เราคิดจะสร้างอะไรดีๆ เพื่อคนอื่นและตัวเอง"

จากนั้น ธีตา โหตระกิตย์  เจ้าของ Steps With Theera ร้านกาแฟที่มีพนักงานในร้านเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  ซึ่งเธอมีลูกที่เป็นเด็กกลุ่มนี้ ก็ได้มาแชร์เรื่องราวของการเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกที่เป็นออทิสติก ที่อยากจะสื่อสารกับสังคมว่า   “ความต้องการของพวกเขาเหล่านี้ จริงๆ ไม่ได้ต่างจากความต้องการของคนธรรมดาๆ ทั่วไป สิ่งที่เขาต้องการก็คือเขาไม่ได้ต้องการจะถูกเรียกว่าเป็นคนพิเศษ"

สำหรับ ประสาน อิงคนันท์  พิธีกรรายการสารคิดีชื่อดัง ได้มาเล่าเรื่องราวประสบการณ์ทำงานเพจ “มนุษย์ต่างวัย”  ที่อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและเห็นความสำคัญของผู้สูงวัย จึงได้ให้แง่คิดไว้ว่า "สังคมเราแบ่งแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความคิด ศาสนา ความเชื่อ แล้วยังต้องมาแบ่งแยกกันด้วยเรื่องวัยอีกเหรอ บางทีคนสองวัยอาจจะคิดเหมือนกันก็ได้"

จากนั้นผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์เพื่อเด็กๆ  “ชีวัน วิสาสะ” นักเขียนหนังสือนิทานยอดนิยม “อีเล้งเค้งโค้ง” กล่าวว่า  "นิทานเดินทาง ออกไปเพื่อให้เด็กๆ จดจำเอาไว้ว่าวันนี้เด็กๆ ได้รับการแบ่งปันหนังสือแล้วหนึ่งเล่ม เมื่อพวเกขาโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักการแบ่งปัน"