น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ R.I.D. Young Team เพาะเมล็ดพันธุ์



ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ มีสื่อมากมายที่เข้าถึงได้แสนง่ายดาย ดังนั้นองค์ความรู้เรื่องการผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์จึงสำคัญ เพราะเพียงแตะหน้าจอไม่กี่ครั้งก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ทีเดียว กับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน หากใช้สื่ออย่างถูกวิธีจะเป็นการช่วยปกปักษ์รักษาได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้กรมชลประทาน จึงจัดโครงการ R.I.D. Young Team  น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ  เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยกันดูแลแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘สื่อโซเชียลมีเดีย’

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า R.I.D. Young Team น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ เป็นโครงการที่จะดึงเยาวชนให้เข้ามารับรู้และร่วมเผยแพร่แง่มุมต่างๆ ของงานชลประทานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในพื้นที่โครงการชลประทานหรือโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการสร้างแกนนำเครือข่ายที่เป็น เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม สอดแทรกความรู้ความเข้าใจในงานกรมชลประทาน โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อสารกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ผ่านคลิปวิดีโอสั้น ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยนำ ศิลปิน พิธีกร ที่มีชื่อเสียงและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม มากระตุ้นให้ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยใกล้อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (ห้วยโสมง)

 “ที่นี่เป็นพื้นที่โครงการขนาดใหญ่ และรอบๆ โครงการเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดา ทั้งสองอุทยานได้ถูกประกาศเป็นมรดกโลก เราจึงมีการปลูกป่า ปล่อยพันธุ์ปลา และอบรมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับให้เขาใช้สื่อที่ทุกคนน่าจะมีอยู่ นั่นคือโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันเยาวชนก็เล่นเฟซบุ๊ค เล่นอินเทอร์เน็ต อยู่แล้ว เราจะมาให้ความรู้เรื่องการทำคลิปวิดีโอ เล่าเรื่องในบ้านของเขา”

 เนื่องจากพื้นที่นี้เปรียบได้กับบ้านของเด็กๆ ที่เข้ามาอบรม และในวันข้างหน้าหากพวกเขาไม่ออกไปอยู่ที่อื่น ห้วยโสมงจะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพทำกิน ซึ่งในระยะยาวหากสิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็ไม่แตกต่างจากบ้านของพวกเขาถูกทำลาย

การอบรมครั้งนี้จึงมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทั้งในเรื่องดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงการตีแผ่ปัญหาต่างๆ ที่เด็กๆ เห็นแต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร การสื่อสารออกมาให้โลกภายนอกได้รับรู้อาจเป็นจุดประกายการแก้ปัญหาที่สำคัญ

“พื้นที่ห้วยโสมงก็มีปัญหาอยู่บ้าง ตั้งแต่เราเริ่มก่อสร้างมา อย่างที่รู้กันว่าในป่าเหนืออ่างเก็บน้ำจะมีเรื่องไม้พะยูงซึ่งตอนหลังก็น้อยลงแล้ว มีเรื่องการบุกรุกป่า หรือแม้กระทั่งทุกวันนี้สัตว์ป่าลงมาหากินที่อ่างเก็บน้ำก็ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้มีการทำร้ายหรือล่า

 ส่วนเรื่องการประมงเราจัดระเบียบการประมง เพราะที่นี่มีปลาเยอะมาก ต้องดูแลและจัดระเบียบ บางพื้นที่ห้ามจับปลา เพราะเราอนุรักษ์ไว้ ถ้าใครละเมิดก็จะถูกลงโทษ ซึ่งเยาวชนนี่แหละจะช่วยเราเป็นอย่างดี ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” นายมหิทธิ์ อธิบาย

ความร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทานและเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ทว่าตลอดมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ เยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งร่วมปลูกป่าและร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไปโดยปริยาย

 นางสาวนิธิพร บัวจู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหินเทิน เล่าประสบการณ์การอบรมโครงการ R.I.D. Young Team น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ ว่าเดิมทีกรมชลประทานมีกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านรอบเขื่อนอยู่แล้ว ทั้งปลูกป่า ปล่อยป่า เก็บขยะ เป็นต้น ซึ่งบ้านของเธอเปิดกิจการแพปลา รับซื้อปลาที่ชาวประมงจับมาได้จากเขื่อน รวมทั้งแปรรูปปลาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงได้รับประโยชน์จากเขื่อนมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นปัญหาด้วยเช่นกัน

“ที่นี่ยังมีปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่บ้าง การได้มาเรียนรู้วิธีการทำคลิปวิดีโอแบบนี้ทำให้รู้สึกอยากทำคลิปชวนคนเที่ยวเขื่อน ชวนคนมาซื้อปลา ซื้อของในหมู่บ้าน และสะท้อนปัญหาให้คนข้างนอกรับรู้ปัญหาแล้วช่วยกันหาทางแก้ไข” นางสาวนิธิพร สะท้อนปัญหาและเสนอทางออก

ด้าน ด.ญ.ศศิธร ไชยเสนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตัวแทนจากโรงเรียนบ้านชงโคสันติสุขวิทยาคาร (สายชลอนุสรณ์) เล่าว่าได้เรียนรู้เทคนิค ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำคลิปวิดีโอ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ในชุมชนรอบเขื่อนได้ เช่น ปัญหาขยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามแก้ไขบ้างแล้วด้วยการรวมกลุ่มกันเพื่อมาช่วยกันรณรงค์เก็บขยะ แต่ด้วยพละกำลังของเด็กๆ ก็ยังไม่เพียงพอ หากสื่อสารไปยังคนอื่นๆ ได้ก็น่าจะดี

 “โซเชียลมีเดียจะช่วยให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่าปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาการทิ้งขยะ เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เขื่อนของเราไม่น่ามาเที่ยว โดยปกติหนูก็มีถ่ายคลิปเล่นกับเพื่อนหรือถ่ายส่งครูบ้างในรายวิชา พอวันนี้ได้เรียนรู้การตัดต่อคลิปวิดีโอโดยสมาร์ทโฟน เทคนิคการตัดต่อต่างๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้จากพี่ๆ นักข่าว ก็คิดว่าจะเอาไปนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาในชุมชน ในเขื่อน ว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และรายงานแบบไหน”

 นับตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ เริ่มก่อสร้าง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเรื่อยมาคือปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่คือความหวังของการแก้ปัญหาต่างๆ แคนแคน - นายิกา ศรีเนียน ศิลปินนักร้องอดีตสมาชิกวงไอดอล BNK48 เป็นหนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่น้องๆ กล่าวถึงความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมว่า “สำหรับตัวแคนเองตอนนี้ได้ฝึกงานในหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ทำวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ แล้วทำรายงานกลับไปยังบริษัทได้ว่าตอนนี้น้ำมีค่าไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า บางบริษัทน้ำดื่มของพนักงานมีค่าปนเปื้อนเยอะกว่าน้ำฝนหน้าโรงงานอีก

 เรื่องสิ่งแวดล้อมมันกระทบกับทุกคนโดยตรง แคนพยายามบอกกับทุกคนเรื่องนี้ สมัยนี้คนรับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมง่ายขึ้นเพราะมีสื่อโซเชียลมีเดียที่พูดถึงผลกระทบ เราสามารถเสิร์ชได้ว่าสิ่งนี้เกิดจากอะไรเพราะอะไร แต่ในขณะที่ในพื้นที่นี้น้องๆ อาจใช้โซเชียลมีเดียไม่เป็น อย่างน้อยเราที่ศึกษาโลกโซเชียลมามากก็ได้นำข้อมูลความรู้นั้นมาเล่าให้น้องๆ”

นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงการได้มาเป็นวิทยากรในโครงการนี้ว่าปกติแคนแคนใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารเรื่องต่างๆ กับแฟนคลับ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย นี่จะได้เป็นกระบอกเสียงหนึ่งให้กรมชลประทานว่าอย่างน้อยเขาได้ตอบแทนจากการสร้างอ่างเก็บน้ำที่นี่ มีโครงการส่งเสริมด้านต่างๆ มีการปลูกป่าทดแทน ฯลฯ

 “เรื่องการทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียไม่ยากเกินไปสำหรับน้องๆ เพราะบ้านของเขามีหลายอย่างที่คนกรุงตามหา สมัยนี้มีหลายที่หลายจังหวัดที่ดังเพียงเพราะกระแสของโซเชียลมีเดีย แคนก็หวังว่าน้องๆ จะได้ความรู้เยอะทั้งด้านการเขียนคอนเทนต์ การตัดต่อวิดีโอ ความรู้พวกนี้สมัยที่แคนอายุเท่าน้องก็ไม่ได้มีใครมาสอน นี่จึงเป็นโอกาสดีที่มีงบประมาณมาช่วยให้น้องๆ ได้ฝึกคิด กล้าเสนอไอเดียเพื่อพัฒนาบ้านของพวกเขา”

      หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 บอกว่าเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หลายปัญหาของกรมชลประทานเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะการสื่อสารบกพร่อง ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นโครงการ R.I.D. Young Team จะเป็นต้นแบบที่มีกลไกในการสร้างการรับรู้บนโลกออนไลน์ที่ทุกวันนี้แทบทุกคนรับข่าวสารผ่านช่องทางดังกล่าว และจะต่อยอดไปได้อีกไกล โดยสามารถติดตามได้ที่ facebook : RIDyoungteam62

       “เราคาดหวังว่าที่นี่จะเป็นต้นแบบที่เราจะขยายการดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน  กรมชลประทานอาจมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า หากโครงการสำเร็จได้ด้วยดี เราอาจจะขยายไปยังกลุ่มอื่น เช่น เจ้าหน้าของกรมชลประทาน กรมอุทยานฯ กรมประมง ก็จะเป็นหูเป็นตาแทนเราในโครงการอื่นต่อไป” นายมหิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ