7 ทางเลือกสู่ชีวิต Zero Waste

การขยายตัวของชุมชนเมือง และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากร และการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟู ทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้นตามมา พร้อมกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2561 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 คิดเป็น 1.64% และมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน หรือ 34% อีก 10.88 ล้านตัน หรือ 39% ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนที่เหลือเป็นขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน หรือ 27% แล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราเพียงใด สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสะสมมานาน หากไม่ต้องการให้ขยะที่เราสร้างกลับมาสร้างปัญหาให้กับเราในภายภาคหน้า เราจึงควรจัดการขยะเหล่านั้นตั้งแต่ต้นทาง
.
หลักการง่าย ๆ ที่จะช่วยทำให้เราก้าวไปสู่ขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste คือการใช้หลัก 3R เริ่มจาก Reduce ลดการซื้อ การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะ Reuse การนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วนำกลับมาใช้งานใหม่ และ Recycle การนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นับว่าเป็นหลักการที่เข้าใจง่ายและทำได้จริง หรือหากยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไร      ลองดู 7 ทางเลือกสู่ชีวิต Zero Waste ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเพื่อที่ทุกคนจะได้เริ่มทำ
.
1. นับปริมาณขยะ ลองนับปริมาณขยะที่เราสร้างขึ้นในทุก ๆ วัน และท้าทายกับตัวเองดูว่าเราจะสามารถลดปริมาณขยะนั้นลงได้หรือไม่ โดยตัวเราต้องผลิตขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งไม่สร้างขยะได้เลยยิ่งดี เช่น 


2. พกถุงผ้าคู่ใจ ใช้ของใช้ส่วนตัวประเภทที่ใช้ซ้ำได้ ฝึกการพกพาถุงผ้าหรือเลือกของใช้ที่ใช้ประจำเป็นแบบที่ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ชินในทุก ๆ กิจกรรมที่เราทำ และหัดปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้า โดยใช้ถุงผ้าที่พกติดตัวมาให้เกิดประโยชน์


3. อุดหนุนร้านค้าแบบ Zero Waste Shop ในบ้านเราตอนนี้เริ่มมีธุรกิจร้านค้า Zero Waste Shop ที่จำหน่ายของกิน ของใช้ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงผลิตภัณฑ์ Eco-friendly ที่ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ ซึ่งเราสามารถแบ่งซื้อของกิน ของใช้ รวมถึงน้ำยาชนิดต่าง ๆ ตามน้ำหนัก เหมือนกันซื้อผักซื้อปลานั่นแหละ แต่เราต้องทำภาชนะมาใส่เอง ฉะนั้น ก่อนออกจากบ้านต้องวางแผนสักนิดว่าต้องเตรียมภาชนะแบบไหนให้เหมาะ 


4. ไม่รับช้อนส้อม ตะเกียบพลาสติก หากตั้งใจทำมาตั้งแต่ข้อแรก ข้อนี้ก็ไม่ยากแล้วหล่ะ เพียงบอกปัดหรือคืนช้อนส้อม ตะเกียบพลาสติก ที่ผู้ขายหยิบมาให้เรา และใช้ช้อนส้อม ตะเกียบที่ทำจากสแตนเลส จากไม้ ที่เราพกพามาแทน เชื่อเถอะว่าคุณทำได้และจงหัดทำให้เคยชิน หากต้องการเห็นสังคมไทยไร้ขยะ

5. ลด เลิกการใช้หลอดพลาสติก คนเราใช้หลอดพลาสติก 1 อัน เพียง 20 นาที แต่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ลองเปลี่ยนมาใช้หลอดดูดน้ำไอเทมใหม่ ๆ ที่มีจำหน่ายให้เราเลือกใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หลอดดูดน้ำจากธรรมชาติอย่าง ไม่ไผ่ ผักบุ้ง ตะไคร้ ซังข้าวหรือต้นข้าว เส้นพาสต้า ต้นราโพ หรือหลอดดูดน้ำทำจากกระดาษ และหลอดดูดน้ำสังเคราะห์ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ที่เป็นสเตนเลส ซิลิโคน หรือทำจากแก้ว


6. ใช้ภาชนะใส่เครื่องดื่มแบบเติมซ้ำ จะดีมากหากทุกครั้งที่หยิบถุงผ้าและของใช้ส่วนตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นคววรรวมถึงแก้วน้ำที่ใส่เครื่องดื่มแบบเติมซ้ำได้ลงไปด้วย แทนการรับแก้วน้ำพลาสติก ปัจจุบันร้านค้า ห้างร้าน และร้านกาแฟสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วมาใส่เอง พร้อมกับมอบส่วนลดราคาเครื่องดื่มให้ด้วย   


7. แยกขยะก่อนทิ้ง เป็นการจัดการปัญหาขยะที่ต้นทางที่ดีที่สุด โดยแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักได้ ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ นำไปแปรรูปได้อีกครั้ง ขยะอันตราย เช่น กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟ ถ่านไฟฉายหมดอายุ ที่มีสารปนเปื้อนควรนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ต้องห่อหุ้มให้ดีก่อนทิ้งและเขียนป้ายติดไว้ให้ชัดเจนว่าเป็นขยะพิษหรือขยะอันตราย และขยะทั่วไป เช่น ถุงขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ที่ใช้เวลาย่อยสลายนาน ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็ต้องถูกกำจัดอย่างถูกต้องเช่นกัน
.
เพียงคุณเริ่มและค่อย ๆ ทำจากง่ายไปยาก และหากคุณทำได้นอกเหนือจากตัวอย่างทั้ง 7 ข้อที่ให้ไว้ ก็สามารถแชร์และแบ่งปันทางเลือกใหม่ ๆ ให้เพื่อนช่วยกันทำได้คนละไม้คนละมือ อีกไม่นานชีวิตแบบ Zero Waste ต้องเป็นจริง และถือว่าคุณได้ต่อชีวิตให้โลกใบนี้ให้ยืนยาวขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ

#คุณภาพสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพชีวิต 
อ้างอิง : สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม