สสว. ร่วมกับ มจพ .เดินหน้า ขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 26 จังหวัด


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร(มจพ.) เดินหน้ากิจกรรมศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2562  ในพื้นที่รับผิดชอบได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 26 จังหวัด  ตามที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ 8 แห่งทั่วประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนไทยสู่การแข่งขันในยุค 4.0 ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ  โดยตั้งเป้ายกระดับองค์ความรู้ธุรกิจรอบด้านให้กับวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 400 ราย  โดยเน้นจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารกับเทคโนโลยีการแปรรูป ตั้งแต่การทำแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์/สินค้าให้ได้มาตรฐานสากล  ไปจนถึงการขยายช่องทางการตลาดทั้งแบบ Online และ Offline  ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ  สามารถสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2562 นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าไทยให้เป็น  Product Champion เพื่อให้แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ต่อไป 


รศ.ดร.ชาญชัย ทองประสิทธิ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) กล่าวว่า มจพ. เป็นศูนย์ที่มีความเลิศทั้ง ด้านการเกษตร และด้านธุรกิจชุมชน ด้วยจุดเด่นและศักยภาพของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการบูรณาการหน่วยงานภายในเพื่อให้บริการชุมชนอยู่แล้ว ตั้งอยู่ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโยลีเพื่ออุตสาหกรรม โดยมีคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  ด้านการจัดการอุตสาหกรรม  ระบบอัตโนมัติ  ระบบ IOT  ห้องปฏิบัติการ ด้านการตรวจสอบในอุตสาหกรรมอาหาร  ที่ผ่านมาได้ให้บริการแก่ธุรกิจชุมชนในรูปแบบการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ (Workshop) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่จับต้องได้ รวมทั้งในปีที่ผ่านมาได้รับมอบหมายจากสสว.ในการให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ในการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ และได้รับเชิญไปจัดแสดงสินค้าที่ฮ่องกง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการสั่งสินค้าจากผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว   


นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ ยังกล่าวด้วยว่า มจพ.ยังมั่นใจที่ได้เข้ามาเป็นหน่วยร่วมของสสว. เพื่อทำหน้าที่พัฒนาและยกระดับให้กับวิสาหกิจชุมชนของไทย ในพื้นที่ความรับผิดชอบ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก รวมทั้งหมด 26 จังหวัด เนื่องด้วยมจพ.ประกอบด้วย 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และ 2 วิทยาเขตในภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี และระยอง อีกด้วย


ทั้งนี้สำหรับการกิจกรรมครั้งนี้ มจพ. ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตรเสริมสร้างผู้ประกอบการเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 3 วันระหว่างวันที่ 18 – 20 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์อาหารกับเทคโนโลยีการแปรรูป ตั้งแต่ความสำคัญของคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมีของผลิตภัณฑ์อาหาร และมาตรฐานผลิตภัณฑ์  และความสำคัญของจุลินทรีย์กับอาหาร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเยี่ยมชม ทดลอง และปฏิบัติการเสริมความเข้าใจอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยว แนวความคิดทางการตลาด (Basic Marketing Concept) พื้นฐานการบัญชีการเงินที่ควรทราบ  พร้อมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างแม่แบบธุรกิจแบบกระชับ โดย Business Model Canvas (BMC)  รวมถึงความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานสากลระบบ GMP&HACCP Codex และข้อกำหนดมาตรฐานสากลระบบ HALAL 


สำหรับการดำเนินโครงการจะจัดขึ้นทั้งหมด 4 รอบ โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการรอบแรกนี้ จะจัดขึ้นทั้งหมด 3 รุ่นรวม 400 ราย  จากนั้นคัดเลือก 50 ธุรกิจที่มีศักยภาพเข้าอบรมต่อในรอบที่ 2 เพื่อเน้นฝึกอบรมและพัฒนาเชิงลึก  จากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 20 ธุรกิจเพื่อเข้าอบรมในรอบที่ 3 เรื่องการสร้างเครือข่าย  และรอบสุดท้ายเป็นการเฟ้นหา Product Champion เพียง 5 ธุรกิจเพื่อเข้ามาประชันกันทั้ง 8 มหาวิทยาลัย และคัดเลือกสุดยอด Product Champion ให้เหลือเพียง 1 ธุรกิจ/มหาลัยในช่วงเดือนกันยายนนี้


การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 120 คน  โดยทางมจพ.มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการดำเนินงานออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสได้รับการพัฒนายกระดับ และมีการเจริญเติบโตด้วยความมั่นคงเข้มแข็งและยั่งยืน 


“ภายในปี 2562  มจพ.คาดว่าจะสามารถยกระดับองค์ความรู้ธุรกิจรอบด้านให้กับวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 400 ราย  อบรมพร้อมพัฒนาและให้คำปรึกษาถึงสถานที่ แบบเจาะลึก และขยายช่องทางการตลาดให้กับวิสาหกิจไม่น้อยกว่า  ราย ทั้งแบบ Online และ Offline  สุดท้ายเพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ ไม่น้อยกว่า 5 วิสาหกิจ รวมกว่า 5 ผลิตภัณฑ์/บริการพัฒนาคุณภาพสินค้า  บรรจุภัณฑ์ และการบริการ  5 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ให้วิสาหกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 10” ผู้อำนวยการกล่าว


สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์แห่งความเป็นเลิศ(Excellence Center) ได้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร(มจพ.)  ติดต่อกับ นางสาว ภัคจิรา พึ่งสุข ผู้ประสานงานโครงการ  โทร 099-126-3515  Email :[email protected] หรือติดตามโครงการได้ที่ www.sme.go.th  
 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ