“การลงคะแนนเลือกตั้ง 2562”

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน  เรื่อง “การลงคะแนนเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 มีนาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค    ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง      โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.96 ระบุว่า ทราบ ว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบ ขณะที่ ร้อยละ 48.04 ระบุว่า ไม่ทราบ ว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบ   ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ทราบ พบว่า ร้อยละ 92.77 ระบุคำตอบได้ถูกต้องว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” เพียง 1 ใบ และร้อยละ 7.23 ระบุว่า กาบัตรลงคะแนนคนละ 2 ใบ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง

ด้านการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ “ต่างเขตเลือกตั้ง  ต่างหมายเลข” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.80 ระบุว่า ทราบ ขณะที่ร้อยละ 48.20 ระบุว่า ไม่ทราบ

สำหรับการรับทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง ที่ท่านจะเลือก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่    ร้อยละ 62.03 ระบุว่า ทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง และร้อยละ 37.97 ระบุว่า ไม่ทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง

เมื่อถามถึงปัญหาในการจำหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะเลือก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.98   ระบุว่า ไม่มีปัญหาในการจำหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขณะที่ร้อยละ 19.02 ระบุว่า มีปัญหาในการจำหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงวิธีการจดจำผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง ที่จะเลือกกาลงในบัตรเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.96 ระบุว่า ไปดูที่หน่วยเลือกตั้ง และร้อยละ 50.76 ระบุว่า จด/จำไปจากบ้าน

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.87 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.06 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.59 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้  ตัวอย่างร้อยละ 53.00 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.00 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.08 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.91 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.78 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.09 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 22.06 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุอายุ