MOU 4 หน่วยงาน เร่งสร้างเครือข่าย นักธุรกิจ-นักนโยบาย-นักวิจัย รุ่นใหม่รับมือโลกร้อน



สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับแฟรงค์เฟิร์ตสคูล เซ็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อสนับสนุน แผนงานทุนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (AFFP) ที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

ปัจจุบัน ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียกำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (adaptation finance)เมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพฯ ที่สร้างบนชั้นดินอ่อนสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1.5 เมตร กำลังจะเป็นเมืองหนึ่งที่ถูกผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก เทียบเท่ากับเมืองใหญ่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จาการ์ต้า และมะนิลา 

"เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศจะแปรปรวน เช่น พายุไซโคลนและไต้ฝุ่นที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน และสภาวะฝนแล้งสลับกับน้ำท่วม ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงและถี่ขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร. อุฟ มูสเลเนอร์ หัวหน้าแผนกวิจัยของแฟรงค์เฟิร์ตสคูลกล่าว แฟรงค์เฟิร์ตสคูลร่วมกับศูนย์วิจัยด้านภูมิอากาศและการเงินของความยั่งยืนด้านพลังงาน (FS UNEP Center) ได้มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อระบุปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ในด้านการเงินเพื่อมาตรการปรับตัว และได้พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และให้บริการที่ปรึกษาแก่ลูกค้าต่างประเทศเพื่อหาทางออกเพื่อรับมือกับสภาพอากาศและการจัดหาเงินทุน "ในหลาย ๆ กรณีเราไม่ได้เตรียมความพร้อมต่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ เงินลงทุนในวันนี้เพื่อการเตรียมการที่ดี จะสามารถปันผลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” ศ. มูสเลเนอร์กล่าว

ปัจจุบันแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวส่วนมากมาจากการระดมทุนของภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กระบวนการลงทุนของรัฐสามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ถูกผลกระทบสามารถปรับตัวฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างยั่งยืน ยิ่งกว่านั้น "เราพบว่า ภาคเอกชนยังมีส่วนร่วมลงทุนเพื่อปรับตัวในระดับที่จำกัดมาก ทรัพยากรมนุษย์ในหลายประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นข้อจำกัดหลักในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัว นอกจากนี้ ขีดจำกัดในปัจจุบันยังมาจากการขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการวิจัยด้านนโยบายการเงินเพื่อการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การเตรียมจัดทำโครงการที่ดี และการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพ ไปจนถึงความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และอุปสรรคในการระบุแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมและวิธีการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านั้น” ดร. บิม อดิการี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจาก ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Center : IDRC) จากประเทศแคนาดากล่าว 

เพื่อให้การลงทุนในการปรับตัวสามารถเกิดผลลัพท์ที่มากที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แนวทางการจัดการจึงต้องใช้วิธีแบบองค์รวม แฟรงค์เฟิร์ตสคูล และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  จึงร่วมกันจัดทำ แผนงานทุนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Adaptation Finance Fellowship Program (AFFP) ในปี พ.ศ. 2559 โดยมี IDRC เป็นผู้สนับสนุนแผนงานนี้ โดยให้ทุนแก่ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ที่โดดเด่นในการเงินเพื่อการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ จำนวน 36 ราย ตลอดระยะเวลาโครงการ 4 ปี

นายมาร์ค เรดวูด กรรมการที่ปรึกษาโครงการ AFFP และรองผู้บริหารบริษัทโควอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับตัวที่เหมาะสม การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และการสร้างตลาดที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงการวิจัยเกี่ยวกับการเงินและองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของการปรับตัว เข้ากับความเป็นจริงในทางปฏิบัติของธุรกิจและการกำหนดนโยบาย การรวมกันของทั้งสามมุมมองจะทำให้แนวคิดดีๆ ถูกนำมาใช้จริงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อการนี้จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านนี้"

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา 18 ตัวแทนจากภาคเอกชน นักนโยบาย และนักวิจัย จากห้าทวีปทั่วโลกได้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมผ่านระบบเรียนรู้ออนไลน์ และการประชุมเชิงปฏิบัติการในแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และที่กรุงเทพฯ "สิ่งสำคัญคือ เราต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ไม่เพียงแต่มีความรู้ทางเทคนิคที่สลับซับซ้อนเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะในการติดต่อสื่อสารเพื่อให้พวกเขาสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้ในโลกจริง และสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และจะเป็นผู้นำไปสู่โลกที่สามารถตอบสนองต่อสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้" ดร. บาร์บาร่า เดร็กซเล่อร์ ผู้อำนวยการโครงการ AFFP และรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ที่แฟรงค์เฟิร์ตสคูลกล่าว

ประเด็นหลักคือ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้จะสามารถนำมาปฏิบัติจริงได้อย่างไร? ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ AFFP และนักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า " ในแผนงาน AFFP นักวิจัยรุ่นใหม่ทั่วโลกจากประเทศกำลังพัฒนา จะได้รับทุนในการทำวิจัยนวัตกรรมเรื่องแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะการปรับตัวของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการตอบคำถามว่าทำไมเกษตรกรบางรายถึงเข้าร่วมระบบประกันพืชผล ในขณะที่เกษตรกรบางรายตัดสินใจไม่เข้าร่วม ที่สำคัญคือ โครงการ AFFP นั้นจะจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่เหล่านักวิจัยจะสามารถมาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องผลการวิจัยของพวกเขา โดยมีอาจารย์และนักวิชาการจากนานาชาติคอยสนับสนุนและให้คำปรึกษา ซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถระบุแนวโน้มและแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้"  วิธีดังกล่าวก่อให้เกิดผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ โดยนักวิจัยในโครงการ AFFP 4 คนได้นำเสนอผลการวิจัยในงานประชุม the Biannual Adaptation Futures 2018 ที่จัดขึ้น ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา "เราภูมิใจที่ได้เห็นผลสำเร็จของโครงการ เราสามารถเห็นได้ถึงแรงจูงใจและความมุ่งมั่นของนักวิจัยในโครงการ ซึ่งนั้นชี้ให้เราเห็นว่างานของเรากำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ และเรามาถูกทางแล้ว”

ความสำเร็จล่าสุด ของโครงการ AFFP คือ การร่วมมือครั้งใหม่กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อเป็นหัวหอกในการนำสิ่งที่เราเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลในประเทศไทย

ในอีก 18 เดือนข้างหน้า สกว. จะจัดหาทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยไทยสองคน เพื่อเข้าร่วมในโครงการAFFP รอบที่สอง รองศาสตราจารย์ ดร. ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า "ด้วยความร่วมมือกับสถาบันที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการAFFP เราอยากจะนำหัวข้อการวิจัยเรื่องการเงินเพื่อการปรับตัวมาขยายผลในประเทศไทย เป้าหมายของเราคือการสนับสนุนความพยายามส่วนบุคคลของนักวิจัยไทยที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเพิ่มการแบ่งปันองค์ความรู้ในด้านการเงินเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนานักวิจัยไทยให้กลับมาเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นของเรา”

นาย อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้กล่าวว่า “หลายปีมานี้ เรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดมาจากสภาวะโลกร้อน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะกระทบต่อลูกค้าของเราซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย แต่ยังรวมไปถึงผลการดำเนินการด้านสินเชื่อของ ธกส. ซึ่งในปี พ. ศ. 2560 ค่าเบี้ยประกันภัยพืชผลโดยรวมทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 2,527 ล้านบาท เราจึงตระหนักดีว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วน และเราจำเป็นที่จะต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการส่งพนักงานของ ธกส. ไปเข้าร่วมโครงการAFFP จะทำให้พนักงานของเรามีความรู้และทักษะที่ดี และจะช่วยให้เรามีแนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่เราจะสามารถพัฒนาองค์กรของเราให้กลายเป็นผู้นำด้านการปรับตัวของเกษตรกรในระดับภูมิภาค”