น้ำท่วมทำเชื่อมั่นเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3/60 ทรุด



       วันนี้ (14 ตุลาคม 2560) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3/2560” ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 3/2560 อยู่ที่ 77.4 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจแย่ลงจากปัญหาน้ำท่วมและเป็นช่วงหน้าฝน และไตรมาส 4 ดัชนีจะเท่ากับ 83.1 นั่นคือความเชื่อมั่นอาจจะลดลงอีก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของเขตชนบทที่ลดต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่าง ประเมินให้รัฐบาลได้คะแนนด้านเศรษฐกิจในงบปี 60 เพียง 44.3 จากคะแนนเต็มร้อย และกว่า 2 ใน 3 เชื่อหากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 3/2560 รวมถึงประเมินผลงานรัฐบาลในช่วงปีงบประมาณ 2560 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,057 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

 จากการสอบถามความเห็นต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม  ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และการผ่อนชำระหนี้ ของครอบครัวเป็นอย่างไร  ในช่วงต้นเดือน ตุลาคม 2560 เมื่อประมวลผลแล้ว พบว่าสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานมีคะแนนเท่ากับ 50.1 จากคะแนนเต็มร้อย ซึ่งลดลงจากต้นเดือนกรกฎาคมซึ่งมีค่าเท่ากับ 56.1

เมื่อทำการสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งมีค่าระหว่าง 0-200 ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง  เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว/เท่าๆ เดิม และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • 1) ดัชนีเศรษฐกิจและการค้าของอีสานไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 73.7  หมายความว่า เศรษฐกิจและการค้าของอีสานแย่กว่าไตรมาสที่แล้ว
  • 2) ดัชนีรายได้ครัวเรือนไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 74.1  หมายความว่า รายได้ครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
  • 3) ดัชนีสภาพคล่องการเงินครัวเรือนไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 71.0 หมายความว่า สภาพคล่องการเงินครัวเรือนแย่กว่าไตรมาสที่แล้ว
  • 4) ดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือนไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 90.3 หมายความว่า ครัวเรือนมีการใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบไตรมาสที่แล้ว
  • 5) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 77.4 หมายความว่า ความเชื่อมั่นแย่กว่าไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้เขตเทศบาลมีค่าดัชนีความเชื่อมั่น 80.7  ขณะที่เขตนอกเทศบาลมีค่าดัชนีเพียง 73.8
  •  

ไตรมาส 2/2559

ไตรมาส 3/2559

ไตรมาส

4/2559

ไตรมาส

1/2560

ไตรมาส

2/2560

ไตรมาส

3/2560

1) ดัชนีเศรษฐกิจและการค้าของอีสาน

81.5

84.7

106.1

106.9

105.9

73.7

2) ดัชนีรายได้ครัวเรือน

71.1

78.4

87.1

91.4

104.3

74.7

3) ดัชนีสภาพคล่องการเงินครัวเรือน

73.4

77.1

82.5

92.9

101.8

71.0

4) ดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน

83.7

105.0

127.9

127.6

120.1

90.3

5) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสาน

77.4

86.3

100.9

104.7

108.0

77.4

หมายเหตุ: ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น

 

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2560 (ไตรมาส 4/2560) พบว่า ร้อยละ 60.7 คาดว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวจะยังทรงตัวใน ไตรมาส 4/2560 ขณะที่ร้อยละ 28.1 คาดว่าจะแย่ลงต่อเนื่อง และ ร้อยละ 11.2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นดัชนีจะเท่ากับ 83.1 คือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 4/2560 โดยเฉลี่ยจะปรับตัวแย่ลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2560) พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 48.8 ประเมินระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 27.8 ประเมินว่าแย่ ร้อยละ 15.5 ประเมินว่าดี ขณะที่ร้อยละ 6.6 ประเมินว่าแย่มาก และอีกร้อยละ 1.3 ประเมินว่าดีมาก ดังนั้นค่าคะแนนเฉลี่ยผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ 44.3 จาก 100

*คะแนนเฉลี่ยผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ 44.3 จาก 100

 

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ หากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ หรือร้อยละ 64.7 เชื่อว่าเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้น โดยแยกเป็น ร้อยละ 42.3 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเล็กน้อย และร้อยละ 22.4 ประเมินเศรษฐกิจดีขึ้นมาก ขณะที่ร้อยละ 32.9 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเท่าๆ เดิม มีเพียงร้อยละ 2.4 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง

64.7%

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ ค่าครองชีพที่สูง ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการค้าที่ซบเซา  การเพิ่มค่าแรง การลดต้นทุนการเกษตร การส่งเสริมสินค้าชุมชน การส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เป็นต้น