ศธ. เดินหน้า Growth Mindset ปลูกฝังครูและเด็กให้อยากเรียนรู้ตลอดชีวิต

สพฐ.เปิดทางหนุน ‘ใช้คูปองการศึกษา’ พัฒนาครูเครือข่าย sQip 4 พันคน ใน 14 จังหวัด รมว.ศธ.เชื่อมั่นคุณภาพยกการศึกษาต้องเริ่มจาก “ครูรักเด็ก เด็กรักครู” ดร.คุณหญิงกษมาย้ำ เป้าหมายไม่ใช่แค่รร.สำเร็จ แต่คือการเรียนรู้ระหว่าง ‘รร.-ครู-ชุมชน’ แก้ปัญหา-ยกคุณภาพรร.จากภายใน

 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดงานประชุมวิชาการ “กล้าก้าว (Growth Mindset) : เติบโตด้วยศรัทธา เติบกล้าด้วยแรงใจ” ภายใต้โครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program : sQip) เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางการบริหารจัดการการศึกษารูปแบบใหม่ร่วมกันทั้งโรงเรียน ครูและชุมชน พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียน


โดยภายในงานมีพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างเครือข่ายรร.ที่เข้าร่วมโครงการฯอย่างเป็นทางการ จำนวน 202 โรงเรียน ครูแกนนำ 4,000 คนในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน สุโขทัย อำนาจเจริญ สุรินทร์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีกล่าวว่า โครงการฯนี้ มีจุดเด่นตรงที่มีเครือข่ายโรงเรียน ครูและบุคลากรที่ล้วนมีความสมัครใจมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการ "ระเบิดจากภายใน" เริ่มจากการผูกหัวใจให้ "ครูรักเด็ก  เด็กรักครู" เมื่อสำเร็จแล้วโรงเรียนจะเลือกเป้าหมายพัฒนาให้ตรงกับชีวิตจริงของนักเรียนและบริบทของโรงเรียน ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยจะมีการวิจัยควบคู่ไปตลอด ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า การปฏิรูปการศึหษาที่ดีต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง เมื่อใดก็ตามที่ใช้วิธีการตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใช้ทั่วประเทศจะไม่สำเร็จ

       

“โครงการฯ นี้จึงเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในเขตพื้นที่ยากลำบาก มุ่งพัฒนาให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ Growth Mindset โดยเป็นการพัฒนาให้ทั้งครูและนักเรียนมีความอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่วงการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของตนเอง โดยเฉพาะการค้นหาแนวทางยกระดับมาตรฐานคุณภาพโรงเรียนด้วยบุคลากรในโรงเรียนร่วมกับชุมชน ทำให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนเชื่อมั่นว่าโรงเรียนพัฒนาตนเองได้

 

ซึ่งนับต่อจากนี้ไป โรงเรียน มหาวิทยาลัย อาชีวศึกษา จะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดแนวทางและทำให้เกิดสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายในการประเมินตนเองร่วมกัน ส่วนการสนันสนุนจากสพฐ.ครูที่สนใจสามารถใช้นโยบายคูปองการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้ โดยเสนอต่อผู้อำนวยการโรงเรียนให้เป็นผู้อนุมัติ ซึ่งต้นเดือนเมษายนนี้ทางศธ.จะรวบรวมหลักสูตรที่น่าสนใจให้ เชื่อว่าคุณครูกว่า 4,000 คนใน 202 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯนี้จะได้ประโยชน์และถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการเดินหน้าและขยายเครือข่ายครู sQip อย่างเป็นทางการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษากล่าว




ด้าน ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการ sQip กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อมั่นว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และชุมชน จะได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางเลือกในการจัดการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมกับลูกหลาน และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งดิฉันไม่ได้พุ่งความคาดหวังไว้ที่โรงเรียนเท่านั้น แต่อยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับวิธีคิด วิธีจัดการว่าจะมีทางเลือกใดที่เหมาะสมในการพัฒนาโรงเรียนของตน มิใช่วิธี ‘เหมาเข่ง’ ที่ต้องผลักดันให้ทุกโรงเรียนใช้วิธีเดียวกัน และอยากให้ทุกท่านตระหนักคิดในทุกขณะว่า ทางเลือกที่ร่วมกันคิดค้น ทั้งในเรื่องวิธีการบริหารจัดการ หลักสูตร หรือสิ่งใดๆ ก็ตาม อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

 

แต่กลับเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ร่วมกันระหว่างทาง โดยเฉพาะการดำเนินงานบนข้อจำกัดเรื่องความขัดสนและความไม่พร้อม ต้องดำเนินไปบนความพอดี อย่าได้ยึดติดกับกายภาพ เช่น อาคารหรือสถานที่ ส่วนเป้าหมายของ sQip ที่มุ่งให้ครูมีความสุขต่อการทำหน้าที่ครู เด็กสนุกกับการเรียนรู้ อาจไม่กินความได้เท่ากับความรู้สึกที่ทุกท่านเสียสละ ดิฉันเชื่อว่า ครูจะมีความสุขได้นั้นก็เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแก่ศิษย์ มิใช่ความสุข ความสบายใจที่เกิดแก่ตัวครู” ดร.คุณหญิงกษมา กล่าวสรุป


นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้า Q-Coach กล่าวย้ำถึงหัวใจหลักของโครงการ sQip ว่าประกอบด้วยปัจจัย 5 ประการที่ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ได้แก่ 1) Q-Coach ทีมโค้ชคุณภาพช่วยจุดประเด็นและจัดกระบวนการช่วยเหลือ 2) Q-Info ระบบสารสนเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำงาน 3) Q-PLCs เครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ เสริมสร้างชุมชนครูให้เข้มแข็ง 4) Q-Network เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน และ                          

5) Q-Goal กระตุ้นให้เกิดเป้าหมายร่วมของบุคลากรและชุมชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์งานวิจัยของสกว.ทั้งในและต่างประเทศ ต้นทุนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based education) ของสสค. เมื่อเชื่อมกับประเด็น Growth Mindset แล้วจะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสู่ 5 ปัจจัยหลักในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น