อีสานโพลความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไตรมาส4/59หดตัวต่อเนื่อง


วันนี้ (25 ม.ค. 60) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4/2559” ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 4/2559 อยู่ที่ 100.6 คือ ทรงตัวและหยุดหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาสที่ 1/2560 จะมีแนวโน้มที่แย่ลงเล็กน้อย ผลงานรัฐบาลโดยรวมในปี 2559 สอบผ่านที่ 55.8 เต็ม 100 ขณะที่ผลงานด้านเศรษฐกิจสอบเกือบผ่าน ได้ 48.0 เต็ม 100 โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งประเมินว่าการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 4/2559 และประเมินผลงานรัฐบาลในช่วงปี 2559 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,057 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
คะแนนสภาพเศรษฐกิจครัวเรือน คือ 51.8 จาก 100

 
 
 สำหรับความเห็นต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม  ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และการผ่อนชำระหนี้ ของครอบครัวเป็นอย่างไร  ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 53.8 เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้  ร้อยละ 19.2 เห็นว่าอยู่ในระดับดี ร้อยละ 5.9 เห็นว่าอยู่ในระดับดีมาก ขณะที่ร้อยละ 18.4  เห็นว่าอยู่ในระดับแย่   และร้อยละ 2.7 เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับแย่มาก   ดังนั้นคะแนนสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 คือ 51.6 จาก 100.0เมื่อทำการสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งมีค่าระหว่าง 0-200 ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง  เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว/เท่าๆ เดิม และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ดัชนีเศรษฐกิจและการค้าของอีสานไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 106.1  หมายความว่า ดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว
2) ดัชนีรายได้ครัวเรือนไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 87.1  หมายความว่า แย่กว่าไตรมาสที่แล้ว
3) ดัชนีสภาพคล่องการเงินครัวเรือนไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 82.5  หมายความว่า แย่กว่าไตรมาสที่แล้ว


4) ดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือนไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 127.9หมายความว่า มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบไตรมาสที่แล้ว
5) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 100.9 หมายความว่า ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 (ไตรมาส 1/2560) พบว่า กว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 49.4 คาดว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัวจะยังทรงตัวจากช่วง 2559ปลายปี (ไตรมาส 4/2559) ขณะที่ร้อยละ 29.5 คาดว่าจะแย่ลงต่อเนื่อง และ ร้อยละ 21.1 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นดัชนีจะเท่ากับ 91.6 คือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัว ไตรมาส 1/2560 จะยังคงแย่ลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559
 
 เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงปี 2559 พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 39.3 ประเมินระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 21.1 ประเมินว่าดี ร้อยละ 7.6 ประเมินว่าดีมาก ขณะที่ร้อยละ 19.9 ประเมินว่าแย่ และอีกร้อยละ12.2 ประเมินว่าแย่มาก ดังนั้นค่าคะแนนเฉลี่ยผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ 48.0 จาก 100
คะแนนผลงานเฉลี่ย 48.0 จาก 100

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงปี 2559 พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 40.4 ประเมินระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 29.5 ประเมินว่าดี ร้อยละ 10.1 ประเมินว่าดีมาก ขณะที่ร้อยละ 13.3 ประเมินว่าแย่ และอีกร้อยละ6.6 ประเมินว่าแย่มาก ดังนั้นค่าคะแนนเฉลี่ยผลงานโดยรวมของรัฐบาลคือ 55.8 จาก 100
คะแนนผลงานเฉลี่ย 55.8 จาก 100
 
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการเลื่อนเลือกตั้งจากปลายปี 2560 เป็นกลางปี 2561 พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 43.0 คาดว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ รองลงมาร้อยละ 29.8 ไม่แน่ใจ ตามมาด้วยร้อยละ 18.8 คาดว่าไม่ส่งผลกระทบ และร้อยละ 8.2 คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้ายสุดอีสานโพลได้สอบถามถึงปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขหรือช่วยเหลือพบว่า ปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขหรือช่วยเหลือ คือ เศรษฐกิจซบเซา ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง  น้ำท่วมทางภาคใต้ การศึกษา ทุจริตคอรัปชั่น เร่งให้มีการเลือกตั้ง เป็นต้น