รณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก-ไวรัสซิก้าพื้นที่ปทุมธานี

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “ยุงลาย พ่ายงานวิจัย”ลงพื้นที่ชุมชมร่วมใจพัฒนา หมู่ 4 ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี เคาะประตูบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออกและไข้ซิกาให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงภัยนี้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยของสวทช.และพันธมิตรจำนวน 500 ชุด มาใช้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค

 

โดยมี นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยนักวิจัยและพนักงาน สวทช. นายไพฑูรย์ สายเนตรงาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย (อบต.สวนพริกไทย) และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุ(อสม.)ร่วมเดินรณรงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก


นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เปิดเผยว่าสวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศมีบทบาทในการคิดค้นและพัฒนาผลงานวิจัยในหลายสาขา เช่น สาขาชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ สวทช. ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้คิดค้นผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมทั้งช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ คือ “ผลิตภัณฑ์กำจัดและป้องกันยุงลาย” 

 

โดยในวันนี้ สวทช. และองค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จ.ปทุมธานี เล็งเห็นความสำคัญและร่วมมือกันเพื่อนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดและป้องกันยุงลาย มาช่วยรณรงค์และป้องกันคนในชุมชนตำบลสวนพริกไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วย


สำหรับผลงานวิจัยที่ สวทช.นำมารณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกและไวรัสซิกา ได้แก่ “มอสคิล”ชีวภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย จากจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรีย ที่ใช้ควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายแทนการใช้สารเคมีโดยแบคทีเรียจะเข้าสู่ตัวลูกน้ำยุงลายได้ 3 ทาง คือ ทางผิวหนัง ท่ออากาศและปาก มีฤทธิ์เป็นพิษอย่างเฉพาะเจาะจงกับลูกน้ำยุงลาย

 
แบคทีเรียนสามารถซึมผ่านของเหลวและออกฤทธิ์ทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารและระบบเลือด ทำให้เกิดสภาพที่เป็นด่างในกระเพาะของลูกน้ำยุงลายส่งผลให้เกิดอาการอัมพาต และทำให้ลูกน้ำยุงลายตายก่อนที่จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย มีประสิทธิภาพกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายได้ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และปลา ไม่สะสมในร่างกายคนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมี “โลชั่นกันยุงนาโน” (NaNOMOS LOTION ) ที่วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์นาโนเทค สวทช. ผลิตในรูปแบบสเปรย์ ใช้สำหรับทาผิวหนัง ด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บทำให้ได้เป็นนาโนอิมัลชั่นกักเก็บสารสังเคราะห์ไอคาริดิน (Icaridin) ที่ออกฤทธิ์ไล่ยุงได้นานมากกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งออกฤทธิ์ได้นานกว่าผลิตภัณฑ์โลชั่นกันยุงทั่วไป และป้องกันยุงกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ จุดเด่นของโลชั่นกันยุงนาโน ใช้เทคโนโลยีการกักเก็บในรูปแบบของนาโนอิมัลชั่นที่มีขนาดของอนุภาคระดับนาโนเมตร จึงทำให้พื้นที่ผิวของอนุภาคเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันการระเหยและการเสื่อมสภาพของสารออกฤทธิ์ได้ดีเยี่ยม ลักษณะของโลชั่น มีความโปร่งใสและมีกลิ่นสัมผัสที่น่าใช้ เพียงฉีดสเปรย์บริเวณผิวหนังที่ต้องการและทาให้ทั่วเพื่อป้องกันยุงกัด ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพทางชีววิเคราะห์ช่วยป้องกันยุงลายบ้านกัดได้ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)


อย่างไรก็ตามสถานการณ์ไข้เลือดออกในปีนี้ยังพบผู้ป่วยน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา สำหรับไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค รายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ต้นปี2559 ถึงปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาสะสม 279 รายจากทั่วประเทศ แม้จะอยู่ในภาวะควบคุมได้ แต่ด้วยความรุนแรงของเชื้อไวรัสซิกาก็มีผลต่อหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะทำให้เด็กเกิดมาพิการแต่กำเนิด มีศีรษะเล็ก ดังนั้นประชาชนจึงต้องตื่นตัวและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนในตำบลสวนพริกไทยเป็นอย่างมาก และคาดหวังว่าผลงานวิจัยของ สวทช.และพันธมิตรจะช่วยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายภายในบริเวณที่พักอาศัยของประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกและไข้ติดเชื้อไวรัสซิกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ