กำหนดสัดส่วนพื้นที่ - หน่วยงานควบคุมเฉพาะ

 

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ได้โพส FB ส่วนตัว ขอบคุณคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันศึกษาและนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมวันนี้ (28 มีนาคม 67)

ผมขอชี้แจงผลสรุปการศึกษาโดยคณะกรรมาธิการ แยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ครับ

ให้มีหน่วยงานควบคุมและกำกับดูแลโดยเฉพาะ

 โครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมและกำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจร จะประกอบด้วย

คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร: กำหนดนโยบาย และประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ พิจารณาอนุญาต ระงับ หรือเพิกถอนใบอนุญาต

คณะกรรมการบริหารสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร: พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.) บริหารกองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบ

สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.): ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามสถานบันเทิงครบวงจร ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายฯและคณะกรรมการบริหาร

กำหนดรูปแบบโครงสร้างธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

 โครงสร้างธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จะประกอบด้วย

รูปแบบการจัดตั้ง: รัฐให้ใบอนุญาตแก่เอกชนในระยะเวลาที่กำหนดและพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งมีจำนวนจำกัด

ใบอนุญาต: ในระยะแรกมีเพียงประเภทการลงทุนใหญ่มาก ที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจกาสิโนและธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร

สถานที่และจังหวัดที่อนุญาต: ต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ห่างจากเขตชุมชนและสถานที่สำคัญทางศาสนา

แรงงานและการจ้างงาน: ต้องมีแผนการฝึกฝนแรงงานไทยให้มีทักษะการทำงานเฉพาะทางในธุรกิจกาสิโน

กำหนดอัตราส่วนพื้นที่ธุรกิจกาสิโนต่อพื้นที่ธุรกิจอื่น ๆ : โดยพื้นที่หรือจำนวนเครื่องเล่น หรือ พิจารณาทั้งสองส่วนประกอบกัน เพราะรายได้จากธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรไม่ควรได้จากธุรกิจกาสิโนเพียงอย่างเดียว

ตั้งภาษีสำหรับกาสิโนโดยเฉพาะ

 การจัดเก็บภาษีและรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจร แบ่งเป็น

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต: เป็นแบบเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อนุญาต

ภาษีสรรพสามิต: เก็บจากผู้ประกอบการโดยคิดเป็นร้อยละจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (GGR)

ภาษีเงินได้นิติบุคคล: เก็บจากผู้ประกอบการโดยคิดจาก GGR แทนกำไรสุทธิ

ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ: เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้เข้าใช้บริการสัญชาติไทย เช่น ใน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

สร้างมาตรฐานการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ

 ผลกระทบของสถานบันเทิงครบวงจร และการป้องกันและเยียวยาผลกระทบ ที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ การเปิดสถานบันเทิงครบวงจรจึงต้องมาพร้อมกับนโยบายการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่

กำหนด Negative list เพื่อป้องกันบุคคลที่ครอบครัวขอให้จำกัดการเข้าพื้นที่กาสิโน  บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี บุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดการพนัน เป็นต้น

ป้องกันกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ ผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย (สิงคโปร์ที่จัดเก็บที่อัตรา 4,500 บาท/วัน ญี่ปุ่นที่อัตรา 1,300 บาท/วัน)

ออกมาตรฐานการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เช่น ควบคุมพื้นที่เข้าออกกาสิโน ตรวจสอบตัวตนของลูกค้า (KYC) ก่อนเข้าพื้นที่กาสิโน ต้องหยุดผู้เล่นที่เสียเงินมากกว่าระดับที่กำหนด ต้องหยุดผู้เล่นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดการพนัน หรือผู้เล่นที่แสดงอาการขาดสติหรือมึนเมา  การรักษามาตรฐานของเครื่องเล่นไม่ให้มีการถ่วงน้ำหนัก และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้าง

รายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการป้องกันและฟื้นฟู

รัฐจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากสถานบันเทิงครบวงจร เข้ากองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อ

สนับสนุนการป้องกันการเล่นการพนันผิดกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาการติดการพนัน

สนับสนุนการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจารีตประเพณี อันดีของประชาชน

สนับสนุนการศึกษา และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ

ช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่เด็ก คนชรา ผู้พิการ และบุคคลเปราะบางในสังคม

สนับสนุนค่าใช่จ่ายในการปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ

สนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการพนันผิดกฎหมาย

ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาแรงงาน และ การพัฒนาฝีมือแรงงาน

ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม