13 มีนาคม : วันช้างไทย

 

จากประมาณการในพื้นที่อนุรักษ์ 93 แห่งทั่วประเทศ ช้างป่า
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2566 ด้วยจำนวน 4,013 - 4,422 ตัว

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของช้างป่ามาพร้อมกับการจัดการความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานของช้างกับคน

เช่น ปัญหาตามแนวเขตแดนระหว่างป่ากับพื้นที่ทำกิน การรบกวนที่อยู่อาศัย ตลอดจนความไม่เข้าใจกันจนเกิดเป็นการทำร้ายระหว่างกัน

ต้องย้ำว่า การจัดการปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมและแตกต่างกันออกไป และการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ก็ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน

ผมได้รับทราบว่า ปัจจุบันกรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างการจัดทำ ‘แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างแห่งชาติ พ.ศ. 2567 - 2571 ครอบคลุมทั้งระยะการเฝ้าระวัง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

การทำความเข้าใจของคนกับช้างในพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีติดตาม รายงานสถานการณ์อย่างทันท่วงที

ขณะที่ช้างเลี้ยงจำนวนกว่า 4,000 เชือก ก็ยังคงรอคอยการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการควบคุมมาตรฐานการดูแลของปางช้าง

ท่านเชื่อไหมครับว่า มีปางช้างที่ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีของปางช้างเพียงแค่ 3 แห่งจากสถานที่เลี้ยงช้างกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ

เราจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงดูแลความเป็นอยู่ และยกระดับอาชีพควาญช้าง ให้ช้างกับควาญช้างพึ่งพากันได้ในอุตสากรรมการท่องเที่ยว

เนื่องในวันช้างไทย และในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า ผมเห็นว่า การบริหารความสัมพันธ์ของคนกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างป่า ช้างเลี้ยง สิ่งหนึ่งที่เราต้องมีคือความเข้าใจ ความต่อเนื่อง และความเชื่อมโยงระหว่างกันในการจัดการปัญหา

ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจึงจำเป็นต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้ละเอียด รอบคอบ และทำได้จริง เพื่อให้ป่าเป็นพื้นที่ของช้าง และคนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสมดุล

เขียน : สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์