แนะทำกิจกรรมทางกายของแต่ละช่วงวัย

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า เวลาที่เหมาะสมในการมีกิจกรรมทางกายของแต่ละช่วงวัย นับจาก

เด็ก อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง และระดับหนัก สะสมอย่างน้อย 420 นาที/สัปดาห์ หรือสะสมอย่างน้อยวันละ 60 นาที

ผู้ใหญ่ อายุ 18-64 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง สะสมอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือระดับหนัก สะสมอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์

ผู้สูงอายุ อายุ 64 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง สะสมอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ควบคู่กับการทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทรงตัวและการยืดหยุ่นควบคู่ไปด้วย

กิจกรรมทางกาย สามารถจำแนกเป็น 3 ลักษณะ

1.การทำงาน (Work Related PA) : การออกแรงในการทำงานในรูปแบบต่างๆ

คำแนะนำ : หากงานในอาชีพของคุณส่วนใหญ่ มีลักษณะการทํางานแบบนั่งอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ลองหาช่วงเวลาพัก ลุกขึ้นมาขยับเคลื่อนไหว ยืดเหยียดร่างกายเป็นระยะๆ ทุกๆ ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 10 นาที

2.การเดินทาง (Transportation) : การเดินทางที่ใช่การเดินเท้า หรือการขี่รถจักรยาน เป็นเวลาตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป

คำแนะนำ : หากการเดินทางของคุณในแต่ละวัน เป็นการนั่งรถเป็นหลัก ลองปรับมาเพิ่มการเดินขึ้นบันได แทนการขึ้นลิฟต์ เลือกการเดินเท้า หรือขี่จักรยานให้มากขึ้น แทนการนั่งรถ

3.การออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ (Recreation & Sport) : กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ

คำแนะนำ : ในวันหยุด และช่วงเวลานอกเหนือจากงาน สามารถหากิจกรรมที่คุณสนใจทํา เพื่อให้ได้เคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น เต้น ไปเดินช็อปปิ้ง พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น เล่นกีฬา ออกกําลังกายต่าง ๆ แทนกิจกรรมที่อยู่หน้าจอ อย่างนั่งดูทีวี ดูมือถือ หรือเล่นเกม