กรมชลประทาน ชูแผนพัฒนาลุ่มน้ำน้อย

 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 66 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นำทีมลงพื้นที่พาคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “โครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการชลประทานในลุ่มน้ำน้อย จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่

โดยมี นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 พร้อมด้วย นายปรัชญา ฉายวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านการวางแผน) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แม่น้ำน้อย เป็นลำน้ำสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 145 กิโลเมตร

โครงการชลประทานในระบบของแม่น้ำน้อยก่อสร้างมาพร้อม ๆ กับเขื่อนเจ้าพระยา มีอายุการใช้งานมากว่า 60 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำลดลง อาคารบางแห่งชำรุดเสียหาย กรมชลประทาน จึงได้ศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อปรับปรุงระบบชลประทานและการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการชลประทาน รวมถึงปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับการระบายน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านแม่น้ำน้อย และการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำของพื้นที่โครงการในการรองรับน้ำนอง

สำหรับแผนการปรับปรุงและพัฒนาโครงการชลประทาน เชื่อมโยง 4 โครงการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำน้อย ได้แก่

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ มีแผนการปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 26 สาย ความยาว 310.58 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 27 สาย ความยาว 307.28 กม.

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร มีแผนการปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคาร ประกอบ 43 สาย ความยาว 431.72 กิโลเมตร ปรับปรุงคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 28 สาย ความยาว 519.88 กิโลเมตร

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี มีแผนการปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคาร ประกอบ 16 สาย ความยาว 203.71 กิโลเมตร ปรับปรุงคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 13 สาย ความยาว 156.69 กิโลเมตร

และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ มีแผนการปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 29 สาย ความยาว 147.77 กิโลเมตร ปรับปรุงคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 11 สาย ความยาว 112.84 กิโลเมตร

“เมื่อการปรับปรุงโครงการชลประทานทั้ง 4 โครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ชลประทานรวมกว่า 1 ล้านไร่ ให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี และในอนาคต หากมีการพัฒนาระบบชลประทานเพิ่มเติม จะสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ได้มากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” รองอธิบดีฯ กล่าว