“บ้านล้านหลัง” ตอบโจทย์ความต้องการที่อยู่อาศัยได้จริงหรือ?

นางจิราภรณ์ แผลงประพันธ์  นักวิจัยอาวุโส  มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ  กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่ประชาชนแห่ไปยื่นจองสิทธิ์ตามโครงการ “บ้านล้านหลังของ ธอส.” เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้จะเปิดให้จองสิทธิ์ได้เพียงวันเดียว แต่ปรากฎว่ามียอดขอจองสิทธิ์รวมกันเกือบ 1.3 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่าสองเท่าตัว  โดยมีประชาชนบางส่วนมารอคิวกันตั้งแต่คืนก่อนหน้าที่จะเปิดให้จองสิทธิ์  ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงปัญหาและความต้องการที่อยู่อาศัยของคนไทยได้เป็นอย่างดี

  อย่างไรก็ตาม โครงการลักษณะนี้มีประเด็นที่ควรให้ความระมัดระวังคือ การให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3% ต่อปีนานสูงสุด 5 ปีแรก หลังจากนั้นปรับขึ้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัวเลย อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนได้ โดยเฉพาะในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ การปรับดอกเบี้ยจากคงที่อัตราต่ำเป็นลอยตัว ซึ่งจะเพิ่มจากอัตราคงที่กว่าสองเท่า อาจทำให้ผู้กู้มีปัญหาในการชำระหนี้ได้  นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการดำเนินนโยบายในลักษณะเช่นนี้ควรใช้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยอาจจะกำหนดให้คงที่ระดับต่ำในระยะ 3 ปีแรก จากนั้นค่อยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนลอยตัว  ก็น่าจะช่วยให้ผู้กู้ค่อยๆ ปรับตัวกับการผ่อนชำระและไม่ก่อให้เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุด

สอดคล้องกับผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่เคยศึกษาปัญหาของผู้ยากจนในชนบทที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน พบว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวของคนจน แต่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย  โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้นิยามผู้ยากจนเฉพาะความยากจนด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่มองปัญหาความยากจนในความหมายกว้าง และได้จำแนกปัญหาความยากจนออกเป็น 8 มิติ ได้แก่ ความยากจนด้านการเงิน  การขาดแคลนที่อยู่อาศัย  การขาดแคลนที่ดินทำกิน  ปัญหาสภาพที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านเศรษฐกิจ  ปัญหาด้านสังคม  ปัญหาด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และปัญหาอื่นๆ เช่น โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เป็นต้น 

โดยอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่ง อาทิ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับเส้นความยากจน(poverty line)  ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)  และฐานข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน/ชุมชน (กชช. 2ค) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  มาทำการวิเคราะห์และสร้างเป็นดัชนีความยากจนหลากมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI)  ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค

 

จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาความยากจน ทำให้ทราบถึงมิติปัญหาหลักที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในภาพรวม  พบว่า ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์กับปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย  ซึ่งเมื่อพิจารณาในมิติเชิงพื้นที่จะพบรูปแบบปัญหาที่แตกต่างกัน โดยสามารถแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังนี้

1. กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน ได้แก่ กลุ่มที่ขาดแคลนที่ดินทำกินและไม่มีที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ขาดแคลนที่ดินทำกินเพียงอย่างเดียว รวมทั้งกลุ่มที่มีที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย แต่ขาดแคลนรายได้ในการสร้างที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยแต่สภาพที่อยู่อาศัยมีลักษณะไม่มั่นคง

2. กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นความยากจนที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการขาดแคลนที่ดินทำกิน เช่น เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีที่ดินทำกิน แต่ขาดความรู้ที่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ หรือเป็นกลุ่มที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือเป็นกลุ่มที่มีความยากจนเรื้อรัง

3. กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว โดยส่วนใหญ่จะเป็นครัวเรือนในกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และภูเก็ต  ซึ่งพื้นที่ชนบทถูกรุกล้ำจากเมือง เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายเข้ามาในพื้นที่ชนบท ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย หรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  แต่คนกลุ่มนี้มักจะไม่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจร่วมด้วย

นักวิจัย อาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการศึกษาชิ้นนี้จะเป็นศึกษาเฉพาะพื้นที่ชนบทเท่านั้น แต่ก็คงพอจะใช้เป็นแนวทางในการมองปัญหาระดับประเทศได้  ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาก็ต้องทำควบคู่กันไป เช่นในกรณีโครงการบ้านล้านหลังนี้ นอกจากการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว อาจต้องมีนโยบายคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น การพัฒนาทักษะหรือการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น  เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ในท้ายที่สุด ซึ่งหมายถึงความสำเร็จอย่างแท้จริงของโครงการนี้