“พรเพชร” รับห่วงกฎหมายส.ว.โดนคว่ำ


นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวชี้แจงกรณีที่ สนช. มีมติขยายเวลาบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ซึ่งจะมีผลให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไปจากเดิม 90 วัน ว่า สนช.ได้ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง และพิจารณาถึงการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม หากเดินตามโรดแมปโดยไม่มีการแก้ไขกติกา อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนในอดีตเนื่องจากมีบางพรรคไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จนต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2557 เป็นโมฆะ โดยเฉพาะกรณีที่ คสช. ไม่ยอมปลดล็อค ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางเมืองไม่ทันเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่บางพรรคระบุว่าไม่จำเป็นต้องขยายเวลาออกไป 90 วัน หาก คสช. ปลดล็อคให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น ตนเองไม่มีอำนาจในการปลดล็อค และยอมรับว่าหากมีการยกเลิกไพรมารี่โหวต ก็ไม่จำเป็นต้องขยายเวลา 90 วัน แต่การแก้ไขกติกาดังกล่าว ต้องไปแก้ไขในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้แล้ว และการแก้ไขอาจใช้เวลายาวนานกว่า 90 วัน เนื่องจากต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ยืนยันว่าหากไม่มีการขยายเวลาตามที่ สนช.เห็นชอบ อาจถึงทางตันในปัญหา หากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ทัน


สำหรับกรณีการเลื่อนกำหนดเลือกตั้งออกไป อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสายตาชาวต่างชาตินั้น ประธาน สนช. กล่าวว่าตนเองได้ชี้แจงต่อเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแล้ว และได้ชี้แจงนายกรัฐมนตรีถึงประเด็นการขยายเวลาแล้วว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างให้เดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ ส่วนกรณีที่ สนช. ปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบนัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เตือนว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่ายังมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งเบื้องต้น สมาชิก สนช. ยืนยันว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงจะต้องรอฟัง กรธ. ก่อน และเรื่องนี้ตนเองอยากให้สอบถามไปยังกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมากกว่า พร้อมยอมรับว่ามีความเป็นห่วงกรณีการคว่ำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จึงต้องมีการสอบถามประเด็นที่เป็นข้อกังวลในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว